หน้าเว็บ

17 กันยายน 2556

181 | เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (2) ชีวิตส่วนตัว

(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.gotoknow.org/posts/548493 วันที่ 17 กันยายน 2556)

กรุณาอ่านบทความนี้ก่อน : เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (1)

เล่าเรื่องตัวเองบ้าง
พื้นฐานครอบครัวผมก็ไม่ใช่จะดีครับ ทั้งพ่อและแม่เรียนมาน้อยและครอบครัวก็ยากจนทั้งคู่ พ่อผมมาจากครอบครัวชาวนาภาคอีสาน ทำงานมาสารพัดอย่างทั้งชาวนา, กรรมกร, ถีบสามล้อรับจ้าง, คนงานไร่อ้อย ฯลฯ จนบวชเรียนและได้มีโอกาสได้มาทำงานในธนาคารหลังจากสึกจากพระแล้ว งานธนาคารฟังดูดีแต่พ่อผมเริ่มจากงานตามวุฒิก็คือ Messenger เดินส่งเอกสารตามโต๊ะ เก็บความรู้และประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนได้เลื่อนตำแหน่งงานมาเป็นพนักงานประจำ พร้อมๆ กับหาทางเรียนต่อปริญญาตรีจาก มสธ.จนสุดท้ายพ่อเกษียณในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อครับ
ส่วนแม่ผมมาจากครอบครัวคนจีนที่ยากจนมาก ต้องเลิกเรียนมาทำงานหาเงินส่งน้องๆ เรียน แม่ทำงานเก็บเงินไปเรียนตัดเสื้อ เป็นลูกจ้างมาจนเก็บเงินและประสบการณ์มากพอก็ออกมาเปิดร้านตัดเสื้อเป็นของตัวเอง และก็ทำงานนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ภาพที่ผมเห็นประจำคือแม่ต้องนั่งเย็บผ้าตั้งแต่เช้าจนเที่ยงคืนจนมีปัญหาสุขภาพตา ทั้งพ่อและแม่ทำงานหนักจนเก็บเงินได้ระดับหนึ่งจึงแต่งงานและสร้างครอบครัว ตอนผมเกิดมาเลยไม่ทันเห็นช่วงความลำบากหนักๆ ของท่านทั้งสอง
เพราะเหตุนี้แหละครับที่พ่อแม่ต้องคอยเคี่ยวเข็ญผมให้ตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะท่านไม่อยากให้ผมต้องขาดทุนชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนอย่างท่านนั่นเอง

การเรียนไม่สำคัญ
น่าเสียดายที่ผมเรียนหนังสือมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ก็ยังไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ประมาณว่าทำไมเราต้องรู้คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ ทำไมเราต้องรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียกรุงสองครั้งปีไหนบ้าง ทำไมเราต้องมานั่งจำชื่อประเทศในอาเซียน ทำไมเราต้องมาเรียนไวยกรณ์ภาษาต่างประเทศที่เราไม่ได้ใช้เวลาซื้อข้าวหรือเดินห้าง ฯลฯ ผมเลยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านการ์ตูนทั้งวัน เล่นกีฬา หรือโดดเรียนไปเล่นดนตรีและกินเหล้าบ้านเพื่อน ผมมีโอกาสเรียนรู้สารพัดสิ่งที่สำคัญๆ จากในห้องเรียน ณ ช่วงเวลานั้นแต่กลับปล่อยทิ้งขว้างไปเสียเปล่าๆ หันไปเก็บความรู้นอกห้องเรียนแทนตั้งหลายปี กว่าจะจบออกมาก็เกรดเฉลี่ยน้อยนิดเหลือทน แถมความรู้ที่ติดตัวมาก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
จุดเริ่มเปลี่ยนมันเริ่มเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัยครับ เมื่อวันหนึ่งได้ไปเจอเพื่อเก่าสมัย ม.ต้น ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านหมูกะทะ มันบอกผมว่า ...ดีนะ ได้เรียนหนังสือสูงๆ ดูตัวมันสิ ไม่ยอมเรียนต่อ ม.ปลายเพราะขี้เกียจเรียน อยากทำงาน แต่ทั้งวุฒิทั้งความรู้ที่มีเอาไปทำงานอะไรดีๆ ไม่ได้เลย...ผมเริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา ณ ตอนนั้นแค่ว่า ที่เรียนต่อมาจนถึงมหาวิทยาลัยนี้ได้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีแล้วอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราต้องไปทำงานเด็กเสิร์ฟหมูกะทะ...ตอนนั้นคิดแค่นั้นเองครับ
แต่หลายๆ สิ่งในตัวผมเปลี่ยนไปในช่วงเวลาที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเริ่มรู้ว่าสาขาวิชาที่เรียนอยู่นั้นเมื่อจบออกมาจะต้องไปหางานทำแนวไหน และด้วยความที่ผมเรียนในสถาบันที่ชื่อไม่ดัง โอกาสแข่งขันในการหางานก็แย่กว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยมีชื่ออยู่แล้ว (ดูแค่ปริญญาบัตรก่อนนะครับ ยังไม่ต้องมองถึงโอกาสทดลองฝีมือ) เพราะงั้นสิ่งที่ผมทำได้ก็คือ ต้องเพิ่มความสามารถตัวเองให้เยอะเข้าไว้ เพื่อที่มันจะได้เพิ่มช่องทางทำกินของผมเอง อย่างน้อยถ้าสมัครงานแข่งกับใครไม่ได้ ผมก็ยังมีทักษะพอที่จะสร้างกิจการเองหรือทำงานในสายอาชีพอื่นได้ (คือถ้าผมหางานทางคอมพิวเตอร์ไม่ได้ผมก็ยังทำอย่างอื่นได้บ้างนะ) ดังนั้นก็เลยพยายามเก็บประสบการณ์เยอะๆ ครับ ทั้งในห้องเรียนและทั้งเรื่องรอบๆ ตัว

งานที่เปลี่ยนชีวิต
สิ่งที่พิสูจน์ความพยายามนั้นก็คือ เมื่อจบปริญญาตรีมา ผมได้งานแรกเป็นโปรแกรมเมอร์ให้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากได้รับโอกาสพิสูจน์ฝีมือจากอาจารย์ตอนช่วงปี 4 ให้ทำงานพัฒนา Web Application ให้หน่วยงานแห่งหนึ่งในจังหวัด ซึ่งความรู้ที่เอามาใช้ในการทำงานโปรเจ็คนั้น มาจากความรู้นอกห้องเรียน ร่วมกับความรู้ในห้องเรียนครับ (งานคือต้องพัฒนาเว็บโดยใช้ PHP&MySQL แต่ในหลักสูตรผมสมัยนั้นไม่มีสอนเขียนเว็บ ไม่มีสอนเขียน PHP และไม่มีสอนใช้ MySQL แต่ก็ได้เรียนหลักการของ Database System, DBMS ซึ่งเอามาใช้ได้ด้วย แต่ PHP&MySQL ผมต้องมาหัดเอาเอง) งานชิ้นนั้นทำให้ผมมีความมั่นใจเลยว่า ความเชื่อว่าการศึกษาสำคัญนั้น เป็นความจริงอย่างแน่แท้
ตั้งแต่นั้นมา ทุกเวลาสำหรับผมคือการศึกษาครับ ศึกษาเรียนรู้อะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องในทางวิชาการเสมอไป ผมมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะการศึกษาทำให้ชีวิตผมมีคุณค่ามากขึ้นในสายตาตัวเอง
และมันยังพิสูจน์ได้อีกอย่างครับ ว่า คุณภาพของคนมันขึ้นอยู่กับการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ระบบการศึกษา

เข้าสู่วงการการศึกษา
เป็นโปรแกรมเมอร์ได้เกือบปี ผมก็ได้เปลี่ยนงานมาเป็นอาจารย์ครับ สอนหนังสือให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาตัวเองและสอนวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาในสาขาอื่นๆ มันทำให้ผมต้องพัฒนาตัวเองครั้งใหญ่อีกครั้ง ต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาโททั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยคิดจะเรียนแต่ก็ต้องเรียนตามข้อบังคับของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา (ถึงตรงนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้วุฒิระดับนี้อาจจะมองว่างานที่ตัวเองทำลำบากกว่าเยอะ ผมรู้ว่าการเรียนหนังสือนั้นหลายๆ คนไม่ชอบ ผมก็ไม่ชอบครับ แต่ก็ต้องทนลำบากเรียนให้จบเพราะมันสำคัญกับอาชีพของเรา เพราะงั้นนี่ก็คือความลำบากอย่างหนึ่งในการทำงานเหมือนกัน)
นอกจากจะเรียนไปเพื่อหน้าที่การงานของตัวเองแล้ว ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนของผม มันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายเลยครับ แม้ว่าหากจะมองในเชิงรูปธรรมแล้วสิ่งที่ผมต้องการสำหรับตัวเองคือวุฒิการศึกษาที่จะเอาไปใช้ต่อสัญญาจ้างหรือปรับเงินเดือน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความรู้ต่างๆ ที่ผมได้เรียนมา จะสามารถเอาไปใช้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษาที่เรียนกับผม ให้พวกเขาได้รับความรู้ที่ครอบคลุมและลึกซึ้งกว่า อันจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองในที่สุดครับ

การสอนหนังสือ
ผมแนะนำตัวเองว่าประกอบอาชีพอาจารย์ แต่เวลาแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษผมจะใช้คำว่า Instructor ซึ่งผมอยากจะใช้แทนคำว่า ผู้สอนหรือผู้แนะนำ
ผมไม่ได้เป็น Teacher หรือครู ซึ่งเป็นคำที่ควรเอาไว้ใช้สำหรับผู้ที่ควรเคารพนับถือ (ผมไม่ใช่บุคคลที่ควรเคารพนับถือเท่าไรนัก) และไม่อยากใช้คำว่า Lecturer เพราะสิ่งที่ผมอยากจะสอนคนอื่นได้ไม่ได้อยู่แค่การสอนในระบบหรือเป็นทางการ
สิ่งที่ผมอยากทำคือการเอาความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมีและได้พบเจอ มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับฟังและเอาไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สิ่งที่ดีผมอยากให้คนที่ผมสอนนำไปใช้ประโยชน์ สิ่งที่ไม่ดีผมก็อยากให้คนที่ผมสอนได้เห็นถึงผลกระทบของมันและไม่เอาเยี่ยงอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาใครเรียกผมว่าอาจารย์ผมก็จะเฉยๆ เพราะมันเป็นอาชีพของผม (เหมือนเรียกคนซ่อมโทรทัศน์ว่าช่าง) แต่ถ้าใครเรียกผมว่าครูหรืออ้างว่าผมเป็นครู ผมจะรู้สึกแย่ และถ้าไม่จำเป็น ผมจะไม่เรียกตัวเองว่าอาจารย์ (ผมเคยต้องเรียกตัวเองแบบนั้นเวลาติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมันกระดากปากสิ้นดี)
ส่วนงานที่ต้องทำนั้น หลายๆ คนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ มักจะมองว่า เป็นอาจารย์สบาย แค่สอนหนังสือ สั่งงาน ตรวจการบ้าน ตรวจข้อสอบ มีปิดเทอม ประมาณนี้ ตัวงานที่ทำน่ะจริงครับยกเว้นปิดเทอมเพราะไม่มี แต่สบายมั้ยตอบได้ว่าไม่ครับ
สอนหนังสือนี่ก็ต้องใช้เสียงพูด ต้องออกท่าทางเสมอๆ ไม่งั้นคนฟังหลับ นอกจากจะต้องพูดในเรื่องที่กำลังให้ความสำคัญอยู่แล้ว ยังต้องคอยสอดส่องความสนใจในการเรียนของคนในห้องเรียนด้วย สอนเสร็จ 1 วิชา (ประมาณ 3-4 ชั่วโมง) หมดแรงเหมือนโดนดูดพลัง (อาจจะมีสบายบ้างในวันที่ให้งานทำในห้องหรือคุมสอบ) นี่ยังไม่นับตอนที่เตรียมสอนอีก ต้องทำสื่อ, ทำ Sheet อ่านทบทวนอีกหลายรอบกันพลาด
สั่งงานหรือสั่งการบ้าน ไม่ใช่ว่าจะนึกๆ แล้วก็สั่งออกมาครับ ต้องเตรียมหาข้อมูลพอสมควร ต้องคิดเผื่อด้วยว่ายากง่ายเกินไปไหม ปริมาณมากน้อยเกินไปหรือเปล่า แล้วนักศึกษาจะได้ประโยชน์อะไรจากงานหรือการสอบนั้นบ้าง อันนี้ก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ ใช้ของเก่าเดี๋ยวเนื้อหามันจะล้าสมัย บางทีเจอรุ่นพี่เอามาให้รุ่นน้องลอกอีก
ถ้าเป็นรายงานก็ต้องเอามาอ่านครับ สมมุติสั่งงานกลุ่ม 4 คน 1 เล่ม สอน 3 ห้องก็ได้รายงานมาอ่านเป็นสิบเล่มแล้ว ไม่ได้อ่านเฉยๆ ด้วย ต้องอ่านไปประเมินไปเพื่อจะให้มันออกมาเป็นคะแนน
ถ้าที่เล่ามานี้ยังถือว่ารับได้ ก็ยังมีงานอื่นๆ ให้ทำอีกครับ ทำงานสอนในสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการทำวิจัย ในแต่ละปีก็มีการประเมินตัวชี้วัดจากหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย (เท่าที่ผมเห็นมาคนที่ประกอบอาชีพสอนหนังสือทุกคน รับได้กับการสอน แถมบางคนชอบสอนหนังสือมากๆ แต่ยังไม่เคยเห็นใครที่ชอบทำเอกสารประเมินสักคน ถ้าจะนับว่านี่เป็นสิ่งที่ลำบากที่สุดในอาชีพนี้ก็พอจะได้นะครับ)
ส่วนรูปแบบการสอนของผม เวลาสอนในห้องผมจะดูตาม Course Syllabus ว่าได้วางแผนไว้อย่างไร แล้วก็จะสอนตามเนื้อหาที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่เต็ม (โดยเฉพาะวิชาบรรยาย เพราะผมเป็นคนพูดเร็ว เวลาพูดถึงสิ่งที่สนใจหรือตื่นเต้นมากๆ จะยิ่งเร็ว บางหัวข้อพูดจนจบใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม.ต้องพูดซ้ำอีกรอบ) ถ้าเวลาเหลือผมก็จะทวนกันอีกรอบหรือไม่ก็ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะให้งานนั่งทำในห้อง วันไหนใจดีก็ปล่อยก่อนเวลาแต่อาจจะมีงานฝากไปทำที่บ้าน ส่วนนอกเวลาสอนในคาบผมจะเผื่อไว้ให้นักศึกษาโปรเจ็คตลอด เพราะกะเวลาแน่นอนไม่ได้ว่านักศึกษาจะมาตอนไหนหรือจะคุยเสร็จตอนไหน ถ้าไม่มีธุระด่วนผมจะคุยจนรู้เรื่องทั้งสองฝ่าย แต่ถ้ามีงานต้องไปประชุมด่วนอะไรแนวนี้ผมก็จะรีบๆ เคลียร์แล้วนัดเวลากันใหม่
พอว่างจากอะไรต่างๆ พวกนี้แล้วค่อยทำงานอื่นต่อ มันก็เลยทำให้ผมเลิกงานเลทประจำ บางวันเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งก็มี รปภ.ของมหาวิทยาลัยจะรู้ดีเพราะผมจะอยู่ยาวตลอด (แต่ผมชอบอยู่กลางคืนมากกว่านะ มันเงียบดี)
ส่วนถ้าเป็นนอกเวลางานแล้ว ผมมีเวลาให้เต็มที่กับนักศึกษาทุกคน บางทีก็จะมี Meeting เล็กๆ น้อยๆ กับพวกเด็กๆ ที่สนิทกัน มาคุยงานบ้าง ซึ่งพวกนี้จะรู้ว่าจะหาตัวผมได้ที่ไหน บางทีเด็กโปรเจ็คก็หอบงานมาคุย (ผมเคยตรวจเล่มโปรเจ็คนักศึกษาใต้แสงโคมไฟข้างทาง เพราะนักศึกษาขี่รถผ่านเห็นผมนั่งกินเบียร์รับลมอยู่กับเพื่อนเลยแวะเอางานให้ตรวจทันที) ส่วนใหญ่เนื้อหาที่คุยกันนอกเวลาจะเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งผมจะชอบเล่าประสบการณ์ของผมให้เด็กพวกนี้ฟัง เช่น เรื่องเกี่ยวกับอาชีพในสายวิชานี้ เรื่องเรียนต่อ เรื่องฝึกงาน เรื่องหางานทำ ฯลฯ หรือไม่ก็เล่าความรู้รอบตัวไปเลย (การสร้างปิรามิด, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, ความเป็นมาของเหล้าและเบียร์, การเมืองไทย ฯลฯ)
ผมชอบเวลาคุยนอกรอบแบบนี้เป็นพิเศษ เพราะมันเหมือนการแลกเปลี่ยนกัน อยู่ในห้องนักศึกษาจะฟังเรา แต่อยู่นอกห้องเราจะผลัดกันฟัง บางทีนักศึกษาจะมีปัญหามาปรึกษาในเรื่องที่เขาพูดกับเราหรืออาจารย์คนอื่นๆ ในห้องเรียนไม่ได้ เช่น ปัญหาครอบครัว การปรับตัวในการเรียน หรือแม้กระทั่งเรื่องทะเลาะกับแฟน ซึ่งผมก็พอจะเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแนะนำแนวทางได้ และผมเห็นว่ามันจะดีมากถ้าสิ่งที่ผมแนะนำไปมันเป็นประโยชน์กับเด็กพวกนี้
สิ่งที่นักศึกษาต้องการจากผมมีมาเรื่อยๆ และไม่จำกัดเวลา ผมเลยเปิด Facebook, Twitter, LINE และอื่นๆ ไว้ตลอดเพื่อรับคำปรึกษาในเวลาแปลกๆ เช่นกลางดึกหรือเช้ามืด ซึ่งผมก็ช่วยเหลือได้ตามสมควร (แต่บางทีหนักไป เช่นส่ง Facebook Chat มาถาม Code ตอน 6 โมงเช้า ผมก็ต้องขอเอาไว้ก่อนเหมือนกัน)

ผมพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน
ตอบได้ชัดเจนครับว่าพอใจ และพอใจมาโดยตลอดตั้งแต่ทำงานมา
เงินเดือนก้อนแรกของผม 8,xxx พอเปลี่ยนงานตกมาเป็น 7,xxx จนวันนี้ 19,xxx ความรู้สึกพอใจนั้นไม่แตกต่างกันเลยครับ
ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้รับการปลูกฝังจากพ่อและแม่ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ผมมีเงินเดือนน้อยผมก็ใช้ได้น้อย ผมมีเงินเดือนเยอะขึ้นผมก็ใช้เงินซื้อความสุขได้เยอะขึ้น ผมไม่เคยมีความรู้สึกว่ามันไม่พอ หรือมันน้อยเกินไป เพื่อนสนิทผมทำงานมีรายได้เดือนละหลายหมื่นแต่ผมก็ยังไม่รู้สึกทุกข์อะไรเวลาเปรียบเทียบกับมันเพราะเราทำงานคนละอย่างกัน สำหรับผมแล้วเงินมีเท่าไรก็เท่านั้นครับ ขึ้นเงินเดือนผมก็ดีใจ แต่ถึงไม่ขึ้นผมก็ไม่อะไรมากครับ (เท่าที่จำได้ผมไม่เคยบ่นเรื่องเงินเดือนเลยนะ)
บางคนมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การทำงานนั้นต้องได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ผมว่าผมก็ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ามาตลอดครับ ไม่เคยรู้สึกว่ามันน้อยเกินไปหรือมากเกินไป เพราะตั้งแต่เงินเดือน 7,xxx จนถึง 19,xxx ผมก็ตั้งใจทำงานในแบบของผมมาตลอด
ผมยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกด้อยค่าอะไรถ้าเทียบกับคนอื่น ความสุขของผมอยู่กับอย่างอื่นมากกว่า ผมมีความสุขเวลาสอนหนังสือ สนุกเวลาคุยกับเด็กๆ ที่สอน อารมณ์ดีเวลาอ่านการ์ตูนหรือหนังสือที่ชอบ ตื่นเต้นเวลาดูข่าวเปิดตัวสินค้าไอทีใหม่ๆ สุขใจเวลาซื้อโมเดลมาสะสม สนุกเวลานอนเล่นเกมยามว่าง เฮฮาเวลาปาร์ตี้กับพี่น้องเพื่อนฝูง แค่นี้ผมว่ามันก็เพียงพอแล้วสำหรับผม เพราะงั้นผมเลยไม่ต้องเอาอะไรไปเปรียบเทียบกับใครครับ
มีเพื่อนๆ หลายคนชวนไปสอบเป็นข้าราชการ ผมไม่อยากไปเพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมาจะไม่ได้เอาไปใช้ เพื่อนๆ ผมอยากเป็นข้าราชการเพราะต้องการความมั่นคง แต่ผมเชื่อว่าความมั่นคงสร้างเองได้ครับ ถ้าทำงานเต็มที่ ใส่ใจกับผลของงานให้มากที่สุด และพัฒนาคุณภาพงานเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ว่ามันน่าจะเป็นความมั่นคงในแบบของผมนะครับ
จนถึงวันนี้ ผมต้องมาฝ่าฟันเพื่อเอาปริญญาเอกอีกใบ มันก็คือความลำบากอีกอย่างหนึ่งของการทำงานแหละครับ แต่ผมคิดว่าผมพอรับไหวและยังสู้ได้เรื่อยๆ เพราะผมรู้ว่าผลตอบแทนที่ได้มันสำคัญมากมายเหลือเกิน
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่าน (ที่ยังอ่านมาจนถึงตรงนี้) ว่า ความสุขในชีวิตมันขึ้นอยู่กับความพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ครับ อย่าไปเปรียบเทียบกับอะไร อย่าไปโทษอะไร เอาตัวเราเป็นจุดยืนเข้าไว้ แล้วทำในสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุดครับ

แล้วคุณพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหนครับ :)

ไม่มีความคิดเห็น: