หน้าเว็บ

17 กันยายน 2556

180 | เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (1)

(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.gotoknow.org/posts/548491 วันที่ 17 กันยายน 2556)

เมื่อวานได้อ่านกระทู้หนึ่งในพันทิป (http://pantip.com/topic/30980964) ซึ่ง จขกท.ได้เล่าถึงเรื่องของเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เคยเรียนมัธยมมาด้วยกัน แต่เรียนแย่มาก สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน แถมเรียนไม่จบอีก แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท 2 แห่ง เจ้าของโรงงานและคอนโดฯ อีกหลายๆ ที่ มีบ้านหรูหรา ขับรถสปอร์ต และมีแฟนหน้าตาดีเอามากๆ เรียกได้ว่าร่ำรวยและประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว
จขกท.เอามาเปรียบเทียบกับตัวเองที่สมัยเรียนก็เรียนได้อันดับต้นๆ ตลอด สอบติดมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง จบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง เรียนสูงถึงระดับปริญญาโทและทำงานในบริษัทที่รับเงินเดือน 40,000 กว่าบาท ซึ่งดูๆ แล้วสิ่งที่ จขกท.เชื่อมั่นคือการศึกษาจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ทำไมเพื่อนของเขาที่ต้นทุนชีวิตแย่มาตลอดถึงได้ร่ำรวยและดูจะมีอะไรเหนือกว่าเขาทุกอย่างถ้าเอามาเปรียบเทียบกัน
หลายๆ ความคิดเห็นที่ตอบๆ กันมาก็ดูจะปรามาส จขกท.ว่าเอาการศึกษามาเป็นตัวชี้วัดคนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่แม้จะไม่ได้เรียนหรือเรียนไม่สูงก็ยังสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน บ้างก็ว่าระบบการศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้สอนคนให้คิดสร้างหรือริเริ่มธุรกิจเอง สอนคนไปเพื่อไปเป็นลูกน้องลูกจ้างคนอื่น อะไรประมาณนี้
จากที่อ่านมาทั้งหมดแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรหลายอย่างสะกิดใจ จนอยากจะเอามาระบายความคิดให้ผู้อ่านได้แลกเปลี่ยนกันครับ
(ผมไม่ได้ไปเสนอความคิดเห็นในกระทู้นั้นเพราะว่าส่วนใหญ่กระทู้พันทิปความคิดเห็นหลังๆ ไม่ค่อยมีคนอ่าน อีกอย่างคือไม่อยากเจอเกรียนครับ 555555)

ในแง่มุมเกี่ยวกับการศึกษา
ไม่ว่ายังไงผมก็ยังเห็นด้วยกับ จขกท.ว่า การศึกษามีความสำคัญครับ ในยุคสมัยนี้ต้องยอมรับว่าสังคมเรา ปริญญาและตัวเลขผลการเรียนจะถูกให้ความสำคัญมาก่อนอย่างอื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าต้นทุนด้านการศึกษาคุณไม่ดี คุณอาจจะต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นหน่อยละ ตรงนี้บางคนอาจจะแย้งว่า การศึกษาไม่ใช่คำตอบของการประสบความสำเร็จเสมอไป ผมก็ยอมรับว่าจริงบางส่วนครับ ลองมองย้อนไปถึงบรรพบุรุษของเรา...เอาแค่รุ่นพ่อแม่เราก็ได้ครับ เชื่อว่าครอบครัวส่วนใหญ่ (รวมถึงครอบครัวผม) พ่อแม่จะเรียนหนังสือมาน้อยหรือไม่ก็ยากจนมาก่อน แต่ที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันได้นั่นคือพวกท่านต้องใช้ความสามารถอย่างอื่นเป็นอย่างมากเพื่อที่จะมาทดแทนโอกาสที่ท่านเสียไปจากตรงนั้น เป็นความจริงใช่ไหมครับที่ทุกวันนี้พ่อแม่มักจะทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งเสียให้ลูกได้เรียนดีๆ เรียนสูงๆ เพราะว่าท่านไม่อยากให้ลูกของท่านต้องลำบากเหมือนสมัยท่านนั่นแหละครับ เห็นได้ชัดเจนว่าคนที่เคยลำบากมาก่อนจะรู้ดีถึงความสำคัญของการศึกษา
กลับไปดูเพื่อนของ จขกท.สิ่งที่เขาเลือกจะมองเพื่อนก็คือสิ่งที่เพื่อนประสบความสำเร็จแล้ว มีบ้านมีรถมีนู่นนี่ๆ นั่นมากมาย แต่ถ้ามองย้อนไปว่ากว่าเพื่อนของ จขกท.จะมีทุกอย่างที่เห็นได้ เขาอาจจะลำบากยากเข็ญในการทำงานมามากกว่าตัว จขกท.เองก็ได้ (ถ้าเพื่อน จขกท.ไม่ได้บ้านรวยอยู่แล้วนะ) ผมเชื่อครับว่าสิ่งที่เพื่อน จขกท.มีทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการทำงานหนักมาอย่างโชกโชน ผ่านความลำบากและล้มเหลวมาแล้วอย่างแน่นอนครับ
ยกตัวอย่างใกล้ตัว เพื่อนของผมคนหนึ่งในกลุ่มปาร์ตี้ด้วยกัน จบ ม.ปลายมาพร้อมกันแต่หมอนั่นไม่ยอมเรียนต่อ ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือในจังหวัดบ้านเกิด ขับรถยนต์มารับพวกผมไปเลี้ยงมื้อหรูประจำ ชีวิตตอนนี้ถือว่าสุขสบายครับ แต่กว่ามันจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่สบายเลยครับ เพราะจบ ม.6 ไปหางานทำก็มีแต่งานที่รับวุฒิ ม.6 รายได้น้อยต้องเก็บหอมรอมริบมาตลอด พวกผมตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็แสนสบาย นัดกินนัดเที่ยวกันเรื่อย แต่เพื่อนคนนี้ไม่เคยมาร่วมเลยครับ เหตุผลในการใช้เงินของพวกเรากับของมันต่างกันลิบ พอทำงานเก็บเงินจนได้เงินก้อนแล้วก็เอาไปลงทุนทั้งที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ขาดทุนเจ๊งแล้วเจ๊งอีก เป็นหนี้มากมายจนกว่าจะจับทางได้ จนทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วถึงจะได้สบายสักทีครับ
ส่วนความคิดที่ว่า ระบบการศึกษาไทยสอนคนไปเป็นลูกจ้าง ไปเป็นลูกน้องเขา ไม่ได้สอนให้ริเริ่มทำอะไรเอง ผมไม่เห็นด้วยนะครับ ไม่งั้นประเทศเราก็คงไม่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการอะไรแล้วละ ความคิดแบบนี้ออกจะโทษระบบเกินไปหน่อย คือผู้เรียนนี่แหละครับเป็นตัวสำคัญ การเรียนในระบบจะได้อะไรไปมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเป็นสำคัญครับว่าจะขวนขวายกอบโกยมากน้อยแค่ไหน ไม่ควรจะคิดในทางคาดหวังว่าการศึกษาจะให้อะไรเรา แต่อยากให้มองว่า เราจะได้อะไรจากการศึกษามากกว่า
ดังนั้นผมมองว่า ระบบเป็นเพียงแนวทาง แต่สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับไปจากการศึกษาในระบบนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียนเองครับ
ผมได้เห็นตัวอย่างมากมายจากเพื่อนรอบตัวและลูกศิษย์หลายๆ คน บางคนค้นพบแนวทางตั้งแต่ตอนเรียน และเขาจะพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาไม่ใช่ปริญญาบัตรอีกต่อไป แต่เป็นความรู้หลากหลายที่เขาจะต้องกอบโกยไว้เพื่อที่จะเอาไปใช้ประโยชน์กับสิ่งที่เขาค้นพบได้หลังจากที่จบการศึกษาไปแล้ว ตัวอย่างเช่นนักศึกษาคนหนึ่งเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และเขาพบว่าตัวเองสนใจการประกอบธุรกิจด้านไอที เขาเบนความสนใจไปในบางรายวิชาเป็นพิเศษ เช่น e-Commerce, เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น สุดท้ายเขาจบมาด้วยเกรดเฉลี่ยปานกลางและเปิดกิจการเป็นของตัวเองพร้อมกับขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นอาชีพเสริม การเป็นเจ้าของกิจการที่ว่านั้นไม่มีวิชาไหนในหลักสูตรที่สอนแต่เป็นสิ่งที่เขาหาแนวทางของเขาเจอ ส่วนวิชาอื่นๆ ที่เขาสนใจเป็นพิเศษนั้นสามารถเอามาใช้ในกิจการของเขาได้เป็นอย่างดี
(ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผมไม่ชอบเอามากๆ แต่กลับเผยแพร่กันอย่างมากมายในอินเตอร์เน็ต คือการหยิบเอา Bill Gates, Steve Jobs และ Mark Zuckerberg มายกตัวอย่างว่าเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็ประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีพันล้านมีชื่อเสียงโด่งดังได้ มันไม่ได้หมายความว่าทั้งสามคนขี้เกียจเรียนจนไม่จบแต่ประสบความสำเร็จนะครับ)

ในแง่มุมเกี่ยวกับความสำเร็จ
ถ้าเราจะมองว่าความสำเร็จในชีวิตนั้นคือสิ่งที่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเหนือกว่าหรือด้อยกว่า ผมว่ามันคงเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก เพราะเราจะไม่มีความพอใจเลย ถ้าเราเหนือกว่าใครคนหนึ่งได้ เราก็จะมองคนที่เหนือกว่าเราและพยายามจะเหนือกว่าเขาให้ได้อีก นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่เรามี แต่ถ้าเราเลิกมองเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วหันมามองความพอใจที่มีเฉพาะตัวเองแล้ว เราจะรู้ครับว่า แค่ไหนคือน้อยไป แค่ไหนคือพอดี และแค่ไหนคือมากเกินไป ผมเคยเห็นบางคนที่มีหน้าที่การงานประจำ มีรายได้ดีและสม่ำเสมอ แต่ก็ยังอยากได้อยากมีเหมือนคนที่เหนือกว่าเขา ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขามีและเป็นอยู่ตอนนี้มันก็เพียงพอเหลือเกินแล้วกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผลที่ได้คือชีวิตของเขาไม่มีความพอเลยครับ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีเลยสักอย่าง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ไปวันๆ กับสิ่งที่มีตอนนี้ก็พอแล้วนะครับ ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้สิ่งที่เรามีนั้นมันยังคงอยู่ต่อไป ไม่เสื่อมสลายไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ส่วนมันจะงอกเงยได้หรือไม่นั้นผมอยากจะมองให้มันเป็นกำไรมากกว่าครับ ยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณทำงานประจำของคุณซึ่งคุณทำมันได้ดีที่สุดแล้ว วันหนึ่งวันใดถ้ามีคนที่มีความสามารถเหนือกว่าคุณเข้ามาทำงานในองค์กรเดียวกัน นั่นหมายความว่าความมั่นคงของคุณอาจสั่นคลอนได้ถ้าคุณไม่รักษาความสามารถที่มีต่องานของคุณไว้หรือทำให้มันดีขึ้น ถ้าองค์กรเคยจ้างคุณด้วยเงินจำนวนหนึ่ง เขาอาจเอาเงินจำนวนนั้นไปจ้างคนที่เก่งกว่าคุณแทนก็ได้ แล้วความมั่นคงที่คุณมีอยู่ก็จะเปลี่ยนไปใช่ไหมครับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวองก็คือ มันจะส่งผลให้งานที่คุณทำมีคุณค่ามากขึ้น แม้คุณจะไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ตามแต่สิ่งที่คุณสร้างจะก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนครับ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติผมสอนหนังสือในวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ผมสามารถทำสื่อการสอนที่มีเนื้อหาครอบคลุมตามเกณฑ์มาตรฐาน (เช่น ประเภทของคอมพิวเตอร์มีดังนี้ Mainframe Computer, Super Computer, Personal Computer บลาๆๆ) และใช้สื่อนั้นสอนไปได้เรื่อยๆ กี่ปีก็ตาม หรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรใหม่นั่นแหละ ซึ่งผมก็สามารถสอนแบบนั้นได้แบบสบายๆ ไปได้เรื่อยๆ ใช่ไหมครับ
แต่ถ้าเราลองศึกษาข่าวสารในวงการไอทีอยู่เป็นประจำ เราอาจจะพบว่ามันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งสามารถเอามาสอนหรือปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมได้ (เมื่อก่อนเรานับ PDA เป็นคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่ง ตอนนี้ก็คงต้องนับ Smartphone, Tablet หรือแม้แต่ Wearable Device อย่าง Google Glass, Samsung Galaxy Gear เข้าไปด้วย) ดังนั้นผมก็จะต้องมีงานเพิ่มขึ้นในแต่ละเทอมเพื่อที่จะปรับปรุง Slide, ปรับปรุง Sheet, Quiz และข้อสอบ ซึ่งถ้าผมไม่ทำจะเป็นไรมั้ย ก็ไม่เป็นนี่ครับ เงินเดือนก็เท่าเดิม อะไรๆ ก็เหมือนเดิมแต่เหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่มันเป็นสิ่งที่ควรทำครับ เพราะนักศึกษาที่เราสอนจะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากเรา ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเองในอนาคต ผลตอบแทนที่ผมได้นั้นไม่มี แต่สำหรับนักศึกษาแล้วเขาได้เต็มๆ ครับ
สำหรับบางท่านที่ไม่ได้ทำงานด้านการสอน ตัวอย่างนี้อาจจะดูไกลไปนิด เคยได้ยินคำพูดประมาณนี้ไหมครับ ประเภทที่ว่า...ทำงานเป็นลูกจ้างเขา ขยันไปก็ไม่ได้อะไร คนที่ได้ประโยชน์ก็คือนายทุนหรือเจ้าของกิจการทั้งนั้น...
ลองคิดดูครับ โฆษณาประกันชีวิตมีเรื่องราวของผู้คนหลากหลายที่ต้องต่อสู้กับชะตากรรมในชีวิตของเขา เวลาเราดูทางโทรทัศน์แล้วต้องน้ำตาคลอ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผู้สร้างเลือกที่จะทำงานแค่พอตัว เช่น ทำโฆษณาที่พูดออกมาตรงๆ ไม่เคลมมีคืน ฯลฯ อะไรประมาณนั้น ซึ่งถามว่าชัดเจนไหม ชัดเจนครับ บริษัทประกันได้โฆษณาที่ตอบโจทย์ไหม ก็ได้ครับ แต่คนที่ดูโฆษณากลับได้อะไรมากกว่านั้น นี่คือคุณค่าที่มองไม่เห็นแต่คุณจะสัมผัสได้ครับ
บทความนี้เอาแค่นี้ก่อน ตอนต่อไปจะเล่าเรื่องตัวเองบ้างครับ โปรดติดตามอ่านและติชมเสนอแนะ :)

ไม่มีความคิดเห็น: