หน้าเว็บ

20 กุมภาพันธ์ 2557

187 | Game Over

ในวันที่เน็ตหอผีเข้าผีออกแบบนี้ หันมานั่งเขียน Blog ดีกว่าครับ

ช่วงนี้เกิดอาการกลับมาเห่อ Kindle อีกครั้งหลังจากที่วางจมฝุ่นไว้นาน เนื่องมาจากไปได้หนังสือเรื่อง Game Over: How Nintendo Conquered the World เวอร์ชั่น mobi มาอ่าน ซึ่งจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ออกมานานพอสมควรแล้ว (น่าจะยุค Gameboy ไม่แน่ใจเหมือนกันเพราะยังอ่านไม่จบ) แต่ตอนแรกผมได้อ่านเวอร์ชั่นแปลไทยแบบคร่าวๆ จากเว็บ Mythland.org ในชื่อว่า Nintendo Drama ซึ่งเป็นอะไรที่สนุกมาก !!!


เรื่องราวหลักๆ ของหนังสือเล่มนี้ เล่าถึงความเป็นมาของบริษัท Nintendo และกล่าวถึงชีวิตของผู้บริหาร Nintendo ยุคนั้นอย่าง Hiroshi Yamauchi และคนอื่นๆ บ้างนิดหน่อย แต่ประเด็นหลักของผู้เขียนคือความพยายามที่จะนำเสนอว่า บริษัทเล็กๆ ในญี่ปุ่นที่มีความเป็นมายาวนานในธุรกิจสายบันเทิงอย่าง Nintendo ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการดิจิตอลเกมในยุค Famicom, Super Famicom และ Gameboy ได้อย่างไร (จริงๆ เนื้อหาในเวอร์ชั่นแปลไทยคร่าวๆ กล่าวไปถึงยุคของ Nintendo 64 แล้วแต่คนแปลไม่ได้ทำต่อ ซึ่งคิดว่าในหนังสือเล่มนี้ก็คงยาวไปถึงประมาณนั้นแหละ)

เรื่องราวของบริษัท Nintendo นั้นน่าสนใจไม่แพ้บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Microsoft, Apple หรือ Google เลย โดยเฉพาะความสามารถของผู้บริหารอย่าง Hiroshi Yamauchi ที่แม้จะไม่มีความสามารถทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และไม่เคยเล่นเกม (!!?) แต่ก็มีวิสัยทัศน์ที่เป็นแบบอย่างเฉพาะตัวที่จะสามารถตัดสินได้ว่า อะไร "ขายได้" ในธุรกิจนี้ แถมยังมีพฤติกรรมในวงการที่ดุดันโหดดิบยังกับยากูซ่า จนไม่น่าเชื่อว่าคนน่ากลัวแบบนี้คือประธานบริษัทที่ขายของเด็กเล่นและเกม

เรายังได้เห็นความเป็นมาของเกมคอนโซลตัวสำคัญของ Nintendo ที่ตีตลาดเกมทั่วโลกได้ประสบความสำเร็จแบบสุดๆ อย่าง Famicom (Nintendo Family Computer) และทำให้เราได้รู้ว่าทำไม Famicom ถึงครองตลาดเกมได้อย่างยาวนานเป็นสิบปีทั้งที่เทคโนโลยี 8 Bit ตกยุคไปแล้ว และยังได้รู้ว่าทำไมพอมันข้ามมาขายในฝั่งอเมริกาถึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น NES (Nintendo Entertainment System) และเปลี่ยนหน้าตาไปแบบไม่เหลือเค้าเดิม


Hiroshi Yamauchi

และถึงแม้ว่าเราจะได้เห็นชีวิตของผู้บริหารประเภทฟ้าส่งลงมาเกิดอย่าง Yamauchi ว่าน่าอิจฉาขนาดไหนแล้วก็ตาม เรายังได้รู้จักกับผู้บริหารสไตล์ลุยงานแหลกลาญอย่าง Minoru Arakawa ลูกเขยของ Yamauchi ผู้นำ Nintendo บุกตลาดอเมริกา แม้ว่า Arakawa จะเป็นถึงประธานของ Nintendo อเมริกา (NOA) แต่ในหนังสือนี้จะบอกให้เราเห็นภาพเลยว่าความพยายามและความทุ่มเทในการทำงานของ Arakawa นั้นน่ายกย่องเพียงใด และถึงแม้ NOA ในช่วงแรกจะล้มลุกคลุกคลานจนเกือบเจ๊ง แต่ด้วยความตั้งใจจริงสไตล์นักธุรกิจญี่ปุ่นของเขาก็สามารถพาบริษัทผ่านช่วงย่ำแย่มาได้จนกระทั่งครองตลาดอเมริกาได้สำเร็จด้วย Donkey Kong และ NES


Minoru Arakawa

ในช่วงของการบุกตลาดอเมริกาของ Nintendo ยังมีเหตุการณ์เฉือนคมกันระหว่าง NOA และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Universal ที่อ้างในลิขสิทธิ์ของ Donkey Kong (จากหนังเรื่อง King Kong ที่ Universal สร้างและอ้างว่า Nintendo ไปลอกเลียนตัวคิงคองมา) ซึ่งถือเป็นคดีความใหญ่โตระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ในธุรกิจบันเทิงของอเมริกาที่พยายามจะขยี้บริษัทเกมข้ามชาติเล็กๆ ให้เละคามือ ผมขอบอกเลยว่าเหตุการณ์ในช่วงนี้ถ้าเอาไปทำเป็นหนังต้องสุดยอดมากๆ !!!


Donkey Kong


Howard Lincoln ทนายของ Nintendo ในคดี Donkey Kong และ Minoru Arakawa (สองคนขวาสุด)

นอกเหนือจากเรื่องราวการเติบโตของ Nintendo แล้ว สิ่งสำคัญสุดยอดที่ได้เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าหนังสือประวัติศาสตร์ของวงการไอทีส่วนใหญ่แทบไม่เคยพูดถึงเลย นั่นคือ "ประวัติศาสตร์เกมและธุรกิจเกมในอเมริกา" ซึ่งผมว่าน่าสนใจมากๆ สำหรับคนที่สนใจเรื่องราวความเป็นมาของธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในปัจจุบัน (ซึ่งเราจะเห็นได้จากเรื่องราวในชีวประวัติของ Bill Gates หรือ Steve Jobs เป็นส่วนใหญ่) แต่ในธุรกิจเกมซึ่งน่าจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจคอมพิวเตอร์ กลับไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงไว้มากนัก เราไม่ค่อยรู้กันว่าก่อนที่จะมี Apple หรือ Microsoft เคยมีบริษัทอย่าง Atari ที่ครองวงการเกมคอมพิวเตอร์อยู่ (ซึ่งมันก็คาบเกี่ยวกับวงการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอยู่บ้างด้วย) และอย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่าในวงการซอฟต์แวร์แล้ว ซอฟต์แวร์เกมเป็นอะไรที่ "ยังไงๆ ก็" ขายง่ายกว่าซอฟต์แวร์ชนิดอื่นๆ เพราะงั้นตลาดซอฟต์แวร์ในอเมริกาจึงเคยถูกครอบครองโดยธุรกิจเกมคอมพิวเตอร์มาก่อนที่คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลจะบูมซะอีก

ในเรื่องนี้เราจะได้เห็นการกำเนิดของเกมคอมพิวเตอร์ในยุคแรก จากงานอดิเรกของนักคณิตศาสตร์ใน Lab จนมันกลายเป็นของที่ขายได้ และก็มีบริษัทต่างๆ พยายามลงมาลุยเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนี้ จนกระทั่งฟองสบู่แตกกระจุยและทุกฝ่ายต่างก็ล้มเหลวกันถ้วนหน้า และในที่สุด Nintendo ก็มาครองตลาดในฐานะผู้ชนะที่มาทีหลังแต่หัวเราะดังกว่า ด้วย NES 

(ประวัติศาสตร์เกมในยุครุ่งเรืองและล่มสลายนี้ทำให้ผมมองภาพเปรียบเทียบกับธุรกิจสมาร์ทโฟนในปัจจุบันที่ฟองสบู่กำลังโตเต็มที่ได้แบบเป๊ะๆ เลยครับ)


Famicom (ซ้าย) และเวอร์ชั่นขายในอเมริกาในชื่อ NES (ขวา)

ความสนุกอย่างสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้คือเรื่องราวของนักออกแบบเกมขั้นเทพ Shigeru Miyamoto ผู้ให้กำเนิดเกมระดับตำนานอย่าง Donkey Kong, Mario และ Zelda ซึ่งเราจะได้รู้ว่าแนวคิดในการออกแบบเกมของเขาเป็นอย่างไร และทำไมเกมที่ Miyamoto ออกแบบถึงได้ประสบความสำเร็จทั้งสิ้น ซึ่งรูปแบบเกมของ Miyamoto มีส่วนมาจากชีวิตส่วนตัวในวัยเด็กของเขา รวมไปถึงมุมมองของเขาที่มีต่อสื่อบันเทิงอย่างเกมที่ต้อง "สนุก" โดยไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงหรือภาพกราฟิกอลังการ เพราะคุณค่าของมันอยู่ที่ Gameplay นั่นเองที่ทำให้เกมของเขาอยู่มาได้เป็นเวลายาวนานและยังคงมีแฟนเหนียวแน่นจนถึงปัจจุบัน


Shigeru Miyamoto

สรุปว่า หนังสือเล่มนี้อ่านสนุกและได้สาระมากครับ แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจธุรกิจเกมและอุตสาหกรรมเกมคอมพิวเตอร์ ส่วนตัวผมก็ได้ประโยชน์จากการอ่านที่เห็นได้ชัดคือภาษาอังกฤษดีขึ้นมาก (สำนวนในหนังสือเขียนเข้าใจง่ายและไม่ค่อยใช้ศัพท์ยาก) ก็อยากแนะนำให้ลองหามาอ่านกันดูครับผม :)

ไม่มีความคิดเห็น: