หน้าเว็บ

30 กันยายน 2556

182 | Find My iPhone !!! [2]

Link ที่เกี่ยวข้อง : 157 | Find My iPhone !!! (2554)

ผ่านไปเกือบสามปีแล้วครับ กับการซื้อ iPhone มาใช้เป็นครั้งแรกในชีวิตนั่นก็คือ iPhone 4 มาวันนี้ก็ได้มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งว่า iPhone 4 เครื่องนั้น ได้ถูกส่งต่อไปถึงมือพ่อของผมได้ใช้ต่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในมือผมตอนนี้คือ iPhone 5 ครับ


เหตุผลหลักที่ต้องการเปลี่ยนเครื่องคือ iPhone 4 ชักจะไม่ตอบสนองความต้องการในการใช้งานของผมแล้วครับ บางกรณีที่เราต้องเปิดเว็บหาอะไรนอกสถานที่เวลารีบๆ, คุย Chat ผ่าน LINE หรือ Facebook ในเรื่องสำคัญเร่งด่วน หรือแม้แต่เรื่องหยุมหยิมอย่างการโหลดแอพกล้องที่ใช้เวลานานจนไม่ทันถ่ายภาพเหตุการณ์เด็ดๆ อย่างนี้ก็ด้วย ผมก็เลยมาพิจารณาว่าอืม...ใช้มาเกือบสามปีแล้วนะ คุ้มค่าแล้วละ คงจะได้เวลาอัพเกรดกันสักที

ตัวเลือกทางฝั่ง Android นี่ตัดฉึบไปได้เลยครับ (เพราะอะไรลองอ่านล่างๆ ดู) ส่วน Windows Phone ผมไม่เคยมั่นใจกับมันเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นตัวเลือกของผมจึงอยู่ที่ iPhone เท่านั้น

แล้วจู่ๆ ก็มาซื้อ iPhone 5 ตอนที่ iPhone 5s และ 5c กำลังจะเข้ามาขายในไทยอีกไม่กี่เดือน มันหมายความว่ายังไง นี่คือเหตุผลและมุมมองของผมครับ

มาดู Features
แน่นอนว่าความต่างของ 5 กับ 5s นั้นเยอะมากพอสมควร (CPU 64 Bit, Touch ID และอื่นๆ) ผมก็เลยมานั่งพิจารณา Features ต่างๆ ของ 5s แล้วเปรียบเทียบกับความสำคัญในการใช้งานของผมเอง ดังนี้ครับ

- CPU 64 Bit แน่นอนว่าต้องเร็วกว่าตัวเดิมอยู่แล้ว แต่ถ้าดูจากใน Keynote จะพบว่ามีการเปลี่ยน Instruction Set ไปพอสมควร ซึ่งแอพต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้พัฒนาขึ้นมาสำหรับ CPU 32 Bit ตัวเดิม จะเปลี่ยนมาใช้ CPU 64 Bit ให้เต็มประสิทธิภาพนั้นก็คงไม่พ้นต้องเขียนโปรแกรมกันใหม่ละครับ แล้วแอพใน App Store ตอนนี้จะมีสักกี่ตัวที่รองรับ 64 Bit เต็มรูปแบบ
(ถ้านึกภาพไม่ออกก็เปรียบเทียบกับเคสของ Windows 32 Bit กับ 64 Bit ครับ)

- Touch ID เป็นนวัตกรรมที่ผมว้าวมาก แต่ในแง่การใช้งานจริง ณ ตอนนี้ผมว่ามันยังไม่ใช่ Feature ที่สำคัญมากนัก แต่ในอนาคต 1-2 ปีข้างหน้าน่าจะจุดติด (คือให้มันมีการเอาไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายและมีประโยชน์กว่านี้) ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นก็คงได้รอบเปลี่ยนมือถือพอดีครับ

- กล้อง ความละเอียด 8 ล้านพิกเซลเท่าเดิมแต่คุณสมบัติของเซนเซอร์ดีขึ้น เป็น Feature หนึ่งที่อยากได้มากครับ แต่พอมามองการใช้งานของตัวเอง ที่รูปภาพส่วนใหญ่ที่ถ่ายจะใช้สำหรับ Social Network นอกนั้นก็เก็บไว้ดูเองไม่ได้เอาไปล้างอัดหรือทำงานอะไรใหญ่โตนัก (พูดง่ายๆ คือถ่ายเล่นเป็นส่วนใหญ่นั่นแหละ) ผมก็เลยรับได้กับความต่างตรงนี้ครับ ส่วน LED Flash คู่นั้นไม่สำคัญสำหรับผมเลยครับ ถ่ายกลางคืนผมก็ปิด Flash มาตลอด 555555

- GPU และอะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่สำคัญครับเพราะผมไม่ได้ใช้โทรศัพท์เล่นเกมมานานแล้ว เหตุผลสำคัญคือกลัวแบตหมดครับ

ดังนั้นก็เลยสรุปได้ว่า สำหรับการใช้งานของผมในปัจจุบันนี้ มันเกินพอครับ เพราะว่าหลักๆ คือใช้เป็นโทรศัพท์ ใช้เล่น Social Network ใช้ถ่ายรูป และอื่นๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งผมมองว่าถ้าใช้แค่นี้ 5 กับ 5s ก็ไม่ต่างกันเท่าไรเลย

มาดูราคา
อันนี้สำคัญมากครับ ราคา iPhone 5 ตอนนี้ ผมเลือกศูนย์ DTAC เหตุผลหนึ่งคือใช้อยู่แล้ว พอไปดูจริงๆ ก็พบว่าราคาถูกกว่าที่อื่นมากครับ คือราคาเต็มของรุ่น 16 GB มันอยู่ที่ 24,555 บาท แต่ถ้าเลือกผ่อนบัตรเครดิตบวกกับยอมใช้โปรติดสัญญา 1 ปีของเขา ราคาเครื่องจะอยู่ที่ 20,900 เท่านั้น !!! ถูกลงมาตั้งหลายพันเลยนะเนี่ย
(ถ้าข่าวลือเป็นจริง ราคานี้จะใกล้เคียงกับ 5c ศูนย์ไทยมาก)

ตรงนี้ตัดสินใจแบบไม่ต้องคิดเลยครับ สัญญา 1 ปีไม่มีปัญหาอยู่แล้วเพราะพื้นที่ๆ ผมอยู่ (ทั้งบ้านและที่หอพัก) ใช้ DTAC ได้ปกติดี ผมก็เลยไม่ได้คิดจะย้ายค่ายแต่อย่างใด แถมเทียบราคาโปรใหม่กับโปรเดิมที่ผมใช้อยู่ อันใหม่แพงกว่า 10 บาท แต่จำนวนนาทีที่โทรมากกว่า 3G ความเร็วสูงสุดก็ให้เยอะกว่า มันใช่ขนาดนี้ผมคงไม่ต้องคิดมากแล้วละครับ

มาดูคุณค่า
ในวันที่เปิดตัว iPhone 5s และ 5c ทาง Apple ได้ตัดสินใจตัด iPhone 5 ออกไปจากการทำตลาดอย่างไม่น่าเชื่อสายตา นั่นคือต่อจากนี้ไป iPhone ในท้องตลาดจะมีให้เลือกแค่ iPhone 4S, iPhone 5s และ iPhone 5c (หลังงานเปิดตัวสิ้นสุด iPhone 5 ก็หายไปจาก Apple Store ของประเทศไทยทันที)

ถ้าเอากรณีนี้ไปเทียบกับสมัยที่เปิดตัว iPad 4th Gen ก็ดูจะคล้ายๆ กันมากเลย คือจู่ๆ ก็ตัด The New iPad (หรือ iPad 3rd Gen) ออกไปเฉยๆ ซะอย่างนั้น ซึ่งในตอนนี้คงรู้กันแล้วว่าเหตุผลที่เลิกขาย The New iPad ไปนั้นเนื่องมาจาก iPad รุ่นนี้ปัญหาเยอะ เช่นเครื่องร้อนเร็ว, แบตหมดเร็ว, น้ำหนักมาก เป็นต้น พอ Apple แก้ปัญหาได้ใน iPad 4th Gen ก็เลยเอาตัวใหม่มาแทนตัวเก่าซะเลย

แล้วเหตุผลของการตัด iPhone 5 ในครั้งนี้มันเหมือนกันหรือเปล่า

ตอนแรกก็คิดว่าใช่ครับ เพราะ iPhone 5 ตอนขายใหม่ๆ ก็เจอปัญหาเยอะเหมือนกัน เช่น เครื่องบอบบางลง (มีคนนั่งทับจนงอ) สีที่พ่นรอบๆ ขอบตัวเครื่องในรุ่นสีดำมันลอกออกได้ (ตอนผมไปซื้อเครื่องนี้ก็แกะไป 2 เครื่อง เครื่องแรกที่แกะออกมามีรอยถลอกบริเวณขอบโลหะรอบเครื่องเลย) ซึ่งถ้า Apple แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ใน iPhone 5s แล้ว ก็ถือว่าสมเหตุสมผลที่จะตัด iPhone 5 ออกไปซะ

แต่พอดูดีๆ แล้ว iPhone 5 มันกลายร่างมาเป็น 5c ครับ เปลี่ยนฝาหลังให้เข้ากับ Concept ของ Jony Ive ซะ แต่ข้างในก็เหมือนๆ เดิม (ต่างกันเล็กน้อยในส่วนของแบต) นั่นแสดงว่าโดยเนื้อแท้แล้ว Core ของ iPhone 5 ก็ถือว่าไม่ได้อยู่ในเคสเลวร้ายแบบ The New iPad ซะหน่อย ส่วนเรื่องความทนทานอันนี้ก็ต้องทำใจหน่อยครับ เครื่องมันเบาลง บางลง จะให้มันสมบุกสมบันแบบสมัย iPhone 4 หรือ 4S ก็คงไม่ได้อะนะ แต่อย่างน้อยก็ยังคงเอกลักษณ์ความอึดไว้บ้าง เช่นกระจกหน้าหลังกับตัวขอบที่ยังพยายามรักษาวัสดุไว้ให้ใกล้เคียงกับรุ่นก่อนหน้า อันนี้ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใช้แล้วละครับว่าจะถนอมของกันแค่ไหน

และแน่นอน ถ้า iPhone 5s และ 5c เข้ามาขายในไทยอย่างเป็นทางการเมื่อไร เราคงไม่ได้เห็น iPhone 5 เครื่องศูนย์กันอีกต่อไป นี่แหละครับคือ Rare Item ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยๆ นักในกลุ่มสินค้าของ Apple ซึ่งผมก็สนใจประเด็นนี้มากเช่นกัน ในเมื่อมีเวลาตัดสินใจไม่มากนัก (ทางศูนย์ DTAC บอกว่า iPhone รุ่นใหม่จะเข้าไทยประมาณสิ้นปีนี้) ผมก็เลยตัดสินใจรีบคว้าไว้ในที่สุดครับ

(อีกเหตุผลเล็กๆ เกี่ยวกับตัวเครื่องคือ ผมชอบสีดำแบบ iPhone 5 มากกว่า iPhone 5s นะ)

มาดูระยะเวลาการใช้งาน
iPhone 4 เป็นโทรศัพท์เครื่องที่สองที่ผมใช้มันมานานมากๆ เกือบสามปี (เครื่องแรกคือ Nokia 3310 อันนั้นใช้อยู่เกือบ 4 ปี) ซึ่งน่าชื่นชม Apple อย่างหนึ่งคือ สินค้าไม่ค่อยตกรุ่นเร็วนัก แม้ว่าจะมี iPhone ตัวใหม่ออกมาทุกปี แต่รุ่นก่อนหน้าก็ยังสามารถใช้งานได้ดี และ Apple เองก็ยังไม่ทิ้งลูกค้าเก่าดังจะเห็นได้จาก iOS ที่อัพเดทย้อนรุ่นให้เยอะพอสมควร

ลองดูกรณี iPhone 3GS ที่เปิดตัวเมื่อปี 2552 และเพิ่งจะถูกตัดออกไปเมื่อปี 2554 หรือดู iPhone 4 ที่เปิดตัวมาพร้อม iOS 4 แต่อัพเดทมาได้จนถึง iOS 7 ครับ กรณีเหล่านี้หาดูได้ยากมากในฝั่ง Android เพราะแม้แต่รุ่น Pure Google อย่าง Nexus เองก็ไม่ได้มีการตามอัพเดทกันยาวนานขนาดนี้

กรณีที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ Samsung ที่ผมอยากจะใช้คำว่า "เอาเปรียบลูกค้า" เลยทีเดียว ถ้าอยากได้การดูแลจากผู้ผลิตนานๆ ก็ต้องเลือกใช้รุ่น Flagship เท่านั้น (ซึ่งก็ไม่ได้ดูแลดีไปกว่ากันเท่าไร) ถ้าวันนี้คุณซื้อ Samsung Galaxy S4 คุณจะได้ Android 4.2 แต่พอ Google ออก 4.3 คุณต้องลุ้นแล้วว่า Samsung จะทำ Firmware ให้หรือไม่ ถ้าใช้งานไปจนถึงปีหน้า คุณต้องวัดใจแล้วว่า Samsung จะยังดูแลคุณหรือไม่หลังจากที่ออก Galaxy S รุ่นต่อไปแล้ว และถ้าผ่านไปสักปีครึ่งหรือสองปี คุณควรจะทำใจได้แล้วว่ามีโอกาสโดนทอดทิ้งแหงๆ (ถ้ายังไม่โดนทิ้งคุณอาจจะได้ใช้ Android เวอร์ชั่นใหม่หลังจากเปิดตัวไปแล้วเกือบปี)

ถ้ายังอยากจะให้โทรศัพท์แสนแพงของคุณยังคงทันยุคสมัย ก็มีทางเลือกที่ดีคือ Root แล้วลง Custom ROM ซะ (ที่ผมใช้อยู่ก็คือ CyanogenMod ซึ่งถือว่าดีมาก) แต่เสถียรภาพของโทรศัพท์จะเปลี่ยนไปครับ เพราะจนถึงทุกวันนี้ยังไม่มี Custom ROM ตัวไหนที่ Stable 100% และคุณก็คงไม่อยากให้โทรศัพท์ของคุณ (ที่ทันสมัยด้วยการอัพ ROM แล้ว) มาเกิดปัญหาแบบไม่เข้าท่าในเวลาสำคัญๆ หรอกจริงมั้ย

การอัพเดท OS หรือ Firmware นั้นสำคัญแค่ไหน สำคัญมากครับ เพราะนั่นคือการที่เราจะได้ใช้คุณสมบัติใหม่ๆ ของระบบปฏิบัติการโดยที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อเครื่องใหม่ครับ ทั้งการเพิ่มลูกเล่นหรือแม้แต่การอุดช่องโหว่เพื่อความปลอดภัย มันคือสิ่งที่ลูกค้าควรจะได้รับเมื่อเขาได้จ่ายเงินซื้อสินค้าแพงๆ ไปแล้วครับ

----

ผมซื้อ iPhone 5 ด้วยราคา 20,900 บาทมาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2556 และก็ตั้งเป้าไว้ว่า ต้องใช้ไปอย่างน้อยๆ ก็คือสามปีเท่ากับเครื่องเก่า ถ้าเอาราคามาหารๆ แล้ว 20,900 สามปี ก็ตกปีละ 6,900 กว่าบาท เทียบกับอายุการใช้งานและประสิทธิภาพแล้วผมถือว่าเหมาะสมมากๆ ครับ ส่วน iPhone 4 เครื่องเดิมก็ไม่ได้ขายต่อหรือทิ้งไปไหนครับ ส่งต่อไปถึงมือพ่อของผมเรียบร้อย ซึ่งจากรูปแบบการใช้งานสไตล์คนแก่ไม่รีบร้อนของพ่อผมที่เน้นโทรเข้าโทรออก ถ่ายรูปทั่วไป แล้วก็เล่นเน็ตอยู่กับบ้านแล้วเนี่ย ผมว่าพ่อคงใช้ไปอีกนานหลายปีเลยละครับ

ถือว่า iPhone แม้จะเป็นโทรศัพท์ที่ราคาแพงจนน่าตกใจไปนิด แต่ในระยะยาวแล้วถือว่าใช้งานได้คุ้มจริงๆ ครับ :)

17 กันยายน 2556

181 | เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (2) ชีวิตส่วนตัว

(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.gotoknow.org/posts/548493 วันที่ 17 กันยายน 2556)

กรุณาอ่านบทความนี้ก่อน : เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (1)

เล่าเรื่องตัวเองบ้าง
พื้นฐานครอบครัวผมก็ไม่ใช่จะดีครับ ทั้งพ่อและแม่เรียนมาน้อยและครอบครัวก็ยากจนทั้งคู่ พ่อผมมาจากครอบครัวชาวนาภาคอีสาน ทำงานมาสารพัดอย่างทั้งชาวนา, กรรมกร, ถีบสามล้อรับจ้าง, คนงานไร่อ้อย ฯลฯ จนบวชเรียนและได้มีโอกาสได้มาทำงานในธนาคารหลังจากสึกจากพระแล้ว งานธนาคารฟังดูดีแต่พ่อผมเริ่มจากงานตามวุฒิก็คือ Messenger เดินส่งเอกสารตามโต๊ะ เก็บความรู้และประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนได้เลื่อนตำแหน่งงานมาเป็นพนักงานประจำ พร้อมๆ กับหาทางเรียนต่อปริญญาตรีจาก มสธ.จนสุดท้ายพ่อเกษียณในตำแหน่งพนักงานสินเชื่อครับ
ส่วนแม่ผมมาจากครอบครัวคนจีนที่ยากจนมาก ต้องเลิกเรียนมาทำงานหาเงินส่งน้องๆ เรียน แม่ทำงานเก็บเงินไปเรียนตัดเสื้อ เป็นลูกจ้างมาจนเก็บเงินและประสบการณ์มากพอก็ออกมาเปิดร้านตัดเสื้อเป็นของตัวเอง และก็ทำงานนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน ภาพที่ผมเห็นประจำคือแม่ต้องนั่งเย็บผ้าตั้งแต่เช้าจนเที่ยงคืนจนมีปัญหาสุขภาพตา ทั้งพ่อและแม่ทำงานหนักจนเก็บเงินได้ระดับหนึ่งจึงแต่งงานและสร้างครอบครัว ตอนผมเกิดมาเลยไม่ทันเห็นช่วงความลำบากหนักๆ ของท่านทั้งสอง
เพราะเหตุนี้แหละครับที่พ่อแม่ต้องคอยเคี่ยวเข็ญผมให้ตั้งใจเรียนหนังสือ เพราะท่านไม่อยากให้ผมต้องขาดทุนชีวิตตั้งแต่เริ่มต้นเหมือนอย่างท่านนั่นเอง

การเรียนไม่สำคัญ
น่าเสียดายที่ผมเรียนหนังสือมาตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมศึกษา ก็ยังไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร ประมาณว่าทำไมเราต้องรู้คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์ ทำไมเราต้องรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาเสียกรุงสองครั้งปีไหนบ้าง ทำไมเราต้องมานั่งจำชื่อประเทศในอาเซียน ทำไมเราต้องมาเรียนไวยกรณ์ภาษาต่างประเทศที่เราไม่ได้ใช้เวลาซื้อข้าวหรือเดินห้าง ฯลฯ ผมเลยเอาเวลาส่วนใหญ่ไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านการ์ตูนทั้งวัน เล่นกีฬา หรือโดดเรียนไปเล่นดนตรีและกินเหล้าบ้านเพื่อน ผมมีโอกาสเรียนรู้สารพัดสิ่งที่สำคัญๆ จากในห้องเรียน ณ ช่วงเวลานั้นแต่กลับปล่อยทิ้งขว้างไปเสียเปล่าๆ หันไปเก็บความรู้นอกห้องเรียนแทนตั้งหลายปี กว่าจะจบออกมาก็เกรดเฉลี่ยน้อยนิดเหลือทน แถมความรู้ที่ติดตัวมาก็ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
จุดเริ่มเปลี่ยนมันเริ่มเมื่อตอนเรียนมหาวิทยาลัยครับ เมื่อวันหนึ่งได้ไปเจอเพื่อเก่าสมัย ม.ต้น ทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟร้านหมูกะทะ มันบอกผมว่า ...ดีนะ ได้เรียนหนังสือสูงๆ ดูตัวมันสิ ไม่ยอมเรียนต่อ ม.ปลายเพราะขี้เกียจเรียน อยากทำงาน แต่ทั้งวุฒิทั้งความรู้ที่มีเอาไปทำงานอะไรดีๆ ไม่ได้เลย...ผมเริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา ณ ตอนนั้นแค่ว่า ที่เรียนต่อมาจนถึงมหาวิทยาลัยนี้ได้ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีแล้วอย่างน้อยก็ไม่ทำให้เราต้องไปทำงานเด็กเสิร์ฟหมูกะทะ...ตอนนั้นคิดแค่นั้นเองครับ
แต่หลายๆ สิ่งในตัวผมเปลี่ยนไปในช่วงเวลาที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเริ่มรู้ว่าสาขาวิชาที่เรียนอยู่นั้นเมื่อจบออกมาจะต้องไปหางานทำแนวไหน และด้วยความที่ผมเรียนในสถาบันที่ชื่อไม่ดัง โอกาสแข่งขันในการหางานก็แย่กว่าคนที่จบมหาวิทยาลัยมีชื่ออยู่แล้ว (ดูแค่ปริญญาบัตรก่อนนะครับ ยังไม่ต้องมองถึงโอกาสทดลองฝีมือ) เพราะงั้นสิ่งที่ผมทำได้ก็คือ ต้องเพิ่มความสามารถตัวเองให้เยอะเข้าไว้ เพื่อที่มันจะได้เพิ่มช่องทางทำกินของผมเอง อย่างน้อยถ้าสมัครงานแข่งกับใครไม่ได้ ผมก็ยังมีทักษะพอที่จะสร้างกิจการเองหรือทำงานในสายอาชีพอื่นได้ (คือถ้าผมหางานทางคอมพิวเตอร์ไม่ได้ผมก็ยังทำอย่างอื่นได้บ้างนะ) ดังนั้นก็เลยพยายามเก็บประสบการณ์เยอะๆ ครับ ทั้งในห้องเรียนและทั้งเรื่องรอบๆ ตัว

งานที่เปลี่ยนชีวิต
สิ่งที่พิสูจน์ความพยายามนั้นก็คือ เมื่อจบปริญญาตรีมา ผมได้งานแรกเป็นโปรแกรมเมอร์ให้ศูนย์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย เนื่องจากได้รับโอกาสพิสูจน์ฝีมือจากอาจารย์ตอนช่วงปี 4 ให้ทำงานพัฒนา Web Application ให้หน่วยงานแห่งหนึ่งในจังหวัด ซึ่งความรู้ที่เอามาใช้ในการทำงานโปรเจ็คนั้น มาจากความรู้นอกห้องเรียน ร่วมกับความรู้ในห้องเรียนครับ (งานคือต้องพัฒนาเว็บโดยใช้ PHP&MySQL แต่ในหลักสูตรผมสมัยนั้นไม่มีสอนเขียนเว็บ ไม่มีสอนเขียน PHP และไม่มีสอนใช้ MySQL แต่ก็ได้เรียนหลักการของ Database System, DBMS ซึ่งเอามาใช้ได้ด้วย แต่ PHP&MySQL ผมต้องมาหัดเอาเอง) งานชิ้นนั้นทำให้ผมมีความมั่นใจเลยว่า ความเชื่อว่าการศึกษาสำคัญนั้น เป็นความจริงอย่างแน่แท้
ตั้งแต่นั้นมา ทุกเวลาสำหรับผมคือการศึกษาครับ ศึกษาเรียนรู้อะไรก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องในทางวิชาการเสมอไป ผมมีความสุขในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะการศึกษาทำให้ชีวิตผมมีคุณค่ามากขึ้นในสายตาตัวเอง
และมันยังพิสูจน์ได้อีกอย่างครับ ว่า คุณภาพของคนมันขึ้นอยู่กับการพัฒนาตนเอง ไม่ใช่ระบบการศึกษา

เข้าสู่วงการการศึกษา
เป็นโปรแกรมเมอร์ได้เกือบปี ผมก็ได้เปลี่ยนงานมาเป็นอาจารย์ครับ สอนหนังสือให้กับนักศึกษาในสาขาวิชาตัวเองและสอนวิชาพื้นฐานให้นักศึกษาในสาขาอื่นๆ มันทำให้ผมต้องพัฒนาตัวเองครั้งใหญ่อีกครั้ง ต้องไปเรียนต่อในระดับปริญญาโททั้งๆ ที่ตัวเองไม่เคยคิดจะเรียนแต่ก็ต้องเรียนตามข้อบังคับของอาจารย์ระดับอุดมศึกษา (ถึงตรงนี้ผู้ที่ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้วุฒิระดับนี้อาจจะมองว่างานที่ตัวเองทำลำบากกว่าเยอะ ผมรู้ว่าการเรียนหนังสือนั้นหลายๆ คนไม่ชอบ ผมก็ไม่ชอบครับ แต่ก็ต้องทนลำบากเรียนให้จบเพราะมันสำคัญกับอาชีพของเรา เพราะงั้นนี่ก็คือความลำบากอย่างหนึ่งในการทำงานเหมือนกัน)
นอกจากจะเรียนไปเพื่อหน้าที่การงานของตัวเองแล้ว ความรู้ที่ได้มาจากการเรียนของผม มันสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมายเลยครับ แม้ว่าหากจะมองในเชิงรูปธรรมแล้วสิ่งที่ผมต้องการสำหรับตัวเองคือวุฒิการศึกษาที่จะเอาไปใช้ต่อสัญญาจ้างหรือปรับเงินเดือน แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือความรู้ต่างๆ ที่ผมได้เรียนมา จะสามารถเอาไปใช้ถ่ายทอดให้กับนักศึกษาที่เรียนกับผม ให้พวกเขาได้รับความรู้ที่ครอบคลุมและลึกซึ้งกว่า อันจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองในที่สุดครับ

การสอนหนังสือ
ผมแนะนำตัวเองว่าประกอบอาชีพอาจารย์ แต่เวลาแนะนำตัวเป็นภาษาอังกฤษผมจะใช้คำว่า Instructor ซึ่งผมอยากจะใช้แทนคำว่า ผู้สอนหรือผู้แนะนำ
ผมไม่ได้เป็น Teacher หรือครู ซึ่งเป็นคำที่ควรเอาไว้ใช้สำหรับผู้ที่ควรเคารพนับถือ (ผมไม่ใช่บุคคลที่ควรเคารพนับถือเท่าไรนัก) และไม่อยากใช้คำว่า Lecturer เพราะสิ่งที่ผมอยากจะสอนคนอื่นได้ไม่ได้อยู่แค่การสอนในระบบหรือเป็นทางการ
สิ่งที่ผมอยากทำคือการเอาความรู้และประสบการณ์ที่ตัวเองมีและได้พบเจอ มาถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้รับฟังและเอาไปเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งอาจมีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี สิ่งที่ดีผมอยากให้คนที่ผมสอนนำไปใช้ประโยชน์ สิ่งที่ไม่ดีผมก็อยากให้คนที่ผมสอนได้เห็นถึงผลกระทบของมันและไม่เอาเยี่ยงอย่าง เพราะฉะนั้นเวลาใครเรียกผมว่าอาจารย์ผมก็จะเฉยๆ เพราะมันเป็นอาชีพของผม (เหมือนเรียกคนซ่อมโทรทัศน์ว่าช่าง) แต่ถ้าใครเรียกผมว่าครูหรืออ้างว่าผมเป็นครู ผมจะรู้สึกแย่ และถ้าไม่จำเป็น ผมจะไม่เรียกตัวเองว่าอาจารย์ (ผมเคยต้องเรียกตัวเองแบบนั้นเวลาติดต่อกับหน่วยงานอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งมันกระดากปากสิ้นดี)
ส่วนงานที่ต้องทำนั้น หลายๆ คนที่ประกอบอาชีพอื่นๆ มักจะมองว่า เป็นอาจารย์สบาย แค่สอนหนังสือ สั่งงาน ตรวจการบ้าน ตรวจข้อสอบ มีปิดเทอม ประมาณนี้ ตัวงานที่ทำน่ะจริงครับยกเว้นปิดเทอมเพราะไม่มี แต่สบายมั้ยตอบได้ว่าไม่ครับ
สอนหนังสือนี่ก็ต้องใช้เสียงพูด ต้องออกท่าทางเสมอๆ ไม่งั้นคนฟังหลับ นอกจากจะต้องพูดในเรื่องที่กำลังให้ความสำคัญอยู่แล้ว ยังต้องคอยสอดส่องความสนใจในการเรียนของคนในห้องเรียนด้วย สอนเสร็จ 1 วิชา (ประมาณ 3-4 ชั่วโมง) หมดแรงเหมือนโดนดูดพลัง (อาจจะมีสบายบ้างในวันที่ให้งานทำในห้องหรือคุมสอบ) นี่ยังไม่นับตอนที่เตรียมสอนอีก ต้องทำสื่อ, ทำ Sheet อ่านทบทวนอีกหลายรอบกันพลาด
สั่งงานหรือสั่งการบ้าน ไม่ใช่ว่าจะนึกๆ แล้วก็สั่งออกมาครับ ต้องเตรียมหาข้อมูลพอสมควร ต้องคิดเผื่อด้วยว่ายากง่ายเกินไปไหม ปริมาณมากน้อยเกินไปหรือเปล่า แล้วนักศึกษาจะได้ประโยชน์อะไรจากงานหรือการสอบนั้นบ้าง อันนี้ก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ ใช้ของเก่าเดี๋ยวเนื้อหามันจะล้าสมัย บางทีเจอรุ่นพี่เอามาให้รุ่นน้องลอกอีก
ถ้าเป็นรายงานก็ต้องเอามาอ่านครับ สมมุติสั่งงานกลุ่ม 4 คน 1 เล่ม สอน 3 ห้องก็ได้รายงานมาอ่านเป็นสิบเล่มแล้ว ไม่ได้อ่านเฉยๆ ด้วย ต้องอ่านไปประเมินไปเพื่อจะให้มันออกมาเป็นคะแนน
ถ้าที่เล่ามานี้ยังถือว่ารับได้ ก็ยังมีงานอื่นๆ ให้ทำอีกครับ ทำงานสอนในสถาบันอุดมศึกษาต้องมีการทำวิจัย ในแต่ละปีก็มีการประเมินตัวชี้วัดจากหน่วยงานอื่นๆ อีกมากมาย (เท่าที่ผมเห็นมาคนที่ประกอบอาชีพสอนหนังสือทุกคน รับได้กับการสอน แถมบางคนชอบสอนหนังสือมากๆ แต่ยังไม่เคยเห็นใครที่ชอบทำเอกสารประเมินสักคน ถ้าจะนับว่านี่เป็นสิ่งที่ลำบากที่สุดในอาชีพนี้ก็พอจะได้นะครับ)
ส่วนรูปแบบการสอนของผม เวลาสอนในห้องผมจะดูตาม Course Syllabus ว่าได้วางแผนไว้อย่างไร แล้วก็จะสอนตามเนื้อหาที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่เต็ม (โดยเฉพาะวิชาบรรยาย เพราะผมเป็นคนพูดเร็ว เวลาพูดถึงสิ่งที่สนใจหรือตื่นเต้นมากๆ จะยิ่งเร็ว บางหัวข้อพูดจนจบใช้เวลาไม่ถึง 1 ชม.ต้องพูดซ้ำอีกรอบ) ถ้าเวลาเหลือผมก็จะทวนกันอีกรอบหรือไม่ก็ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หรืออาจจะให้งานนั่งทำในห้อง วันไหนใจดีก็ปล่อยก่อนเวลาแต่อาจจะมีงานฝากไปทำที่บ้าน ส่วนนอกเวลาสอนในคาบผมจะเผื่อไว้ให้นักศึกษาโปรเจ็คตลอด เพราะกะเวลาแน่นอนไม่ได้ว่านักศึกษาจะมาตอนไหนหรือจะคุยเสร็จตอนไหน ถ้าไม่มีธุระด่วนผมจะคุยจนรู้เรื่องทั้งสองฝ่าย แต่ถ้ามีงานต้องไปประชุมด่วนอะไรแนวนี้ผมก็จะรีบๆ เคลียร์แล้วนัดเวลากันใหม่
พอว่างจากอะไรต่างๆ พวกนี้แล้วค่อยทำงานอื่นต่อ มันก็เลยทำให้ผมเลิกงานเลทประจำ บางวันเที่ยงคืนหรือตีหนึ่งก็มี รปภ.ของมหาวิทยาลัยจะรู้ดีเพราะผมจะอยู่ยาวตลอด (แต่ผมชอบอยู่กลางคืนมากกว่านะ มันเงียบดี)
ส่วนถ้าเป็นนอกเวลางานแล้ว ผมมีเวลาให้เต็มที่กับนักศึกษาทุกคน บางทีก็จะมี Meeting เล็กๆ น้อยๆ กับพวกเด็กๆ ที่สนิทกัน มาคุยงานบ้าง ซึ่งพวกนี้จะรู้ว่าจะหาตัวผมได้ที่ไหน บางทีเด็กโปรเจ็คก็หอบงานมาคุย (ผมเคยตรวจเล่มโปรเจ็คนักศึกษาใต้แสงโคมไฟข้างทาง เพราะนักศึกษาขี่รถผ่านเห็นผมนั่งกินเบียร์รับลมอยู่กับเพื่อนเลยแวะเอางานให้ตรวจทันที) ส่วนใหญ่เนื้อหาที่คุยกันนอกเวลาจะเป็นเรื่องทั่วไป ซึ่งผมจะชอบเล่าประสบการณ์ของผมให้เด็กพวกนี้ฟัง เช่น เรื่องเกี่ยวกับอาชีพในสายวิชานี้ เรื่องเรียนต่อ เรื่องฝึกงาน เรื่องหางานทำ ฯลฯ หรือไม่ก็เล่าความรู้รอบตัวไปเลย (การสร้างปิรามิด, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น, ความเป็นมาของเหล้าและเบียร์, การเมืองไทย ฯลฯ)
ผมชอบเวลาคุยนอกรอบแบบนี้เป็นพิเศษ เพราะมันเหมือนการแลกเปลี่ยนกัน อยู่ในห้องนักศึกษาจะฟังเรา แต่อยู่นอกห้องเราจะผลัดกันฟัง บางทีนักศึกษาจะมีปัญหามาปรึกษาในเรื่องที่เขาพูดกับเราหรืออาจารย์คนอื่นๆ ในห้องเรียนไม่ได้ เช่น ปัญหาครอบครัว การปรับตัวในการเรียน หรือแม้กระทั่งเรื่องทะเลาะกับแฟน ซึ่งผมก็พอจะเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแนะนำแนวทางได้ และผมเห็นว่ามันจะดีมากถ้าสิ่งที่ผมแนะนำไปมันเป็นประโยชน์กับเด็กพวกนี้
สิ่งที่นักศึกษาต้องการจากผมมีมาเรื่อยๆ และไม่จำกัดเวลา ผมเลยเปิด Facebook, Twitter, LINE และอื่นๆ ไว้ตลอดเพื่อรับคำปรึกษาในเวลาแปลกๆ เช่นกลางดึกหรือเช้ามืด ซึ่งผมก็ช่วยเหลือได้ตามสมควร (แต่บางทีหนักไป เช่นส่ง Facebook Chat มาถาม Code ตอน 6 โมงเช้า ผมก็ต้องขอเอาไว้ก่อนเหมือนกัน)

ผมพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน
ตอบได้ชัดเจนครับว่าพอใจ และพอใจมาโดยตลอดตั้งแต่ทำงานมา
เงินเดือนก้อนแรกของผม 8,xxx พอเปลี่ยนงานตกมาเป็น 7,xxx จนวันนี้ 19,xxx ความรู้สึกพอใจนั้นไม่แตกต่างกันเลยครับ
ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่ได้รับการปลูกฝังจากพ่อและแม่ให้พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ผมมีเงินเดือนน้อยผมก็ใช้ได้น้อย ผมมีเงินเดือนเยอะขึ้นผมก็ใช้เงินซื้อความสุขได้เยอะขึ้น ผมไม่เคยมีความรู้สึกว่ามันไม่พอ หรือมันน้อยเกินไป เพื่อนสนิทผมทำงานมีรายได้เดือนละหลายหมื่นแต่ผมก็ยังไม่รู้สึกทุกข์อะไรเวลาเปรียบเทียบกับมันเพราะเราทำงานคนละอย่างกัน สำหรับผมแล้วเงินมีเท่าไรก็เท่านั้นครับ ขึ้นเงินเดือนผมก็ดีใจ แต่ถึงไม่ขึ้นผมก็ไม่อะไรมากครับ (เท่าที่จำได้ผมไม่เคยบ่นเรื่องเงินเดือนเลยนะ)
บางคนมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า การทำงานนั้นต้องได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่า ผมว่าผมก็ได้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ามาตลอดครับ ไม่เคยรู้สึกว่ามันน้อยเกินไปหรือมากเกินไป เพราะตั้งแต่เงินเดือน 7,xxx จนถึง 19,xxx ผมก็ตั้งใจทำงานในแบบของผมมาตลอด
ผมยังไม่มีบ้าน ไม่มีรถยนต์เป็นของตัวเอง แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกด้อยค่าอะไรถ้าเทียบกับคนอื่น ความสุขของผมอยู่กับอย่างอื่นมากกว่า ผมมีความสุขเวลาสอนหนังสือ สนุกเวลาคุยกับเด็กๆ ที่สอน อารมณ์ดีเวลาอ่านการ์ตูนหรือหนังสือที่ชอบ ตื่นเต้นเวลาดูข่าวเปิดตัวสินค้าไอทีใหม่ๆ สุขใจเวลาซื้อโมเดลมาสะสม สนุกเวลานอนเล่นเกมยามว่าง เฮฮาเวลาปาร์ตี้กับพี่น้องเพื่อนฝูง แค่นี้ผมว่ามันก็เพียงพอแล้วสำหรับผม เพราะงั้นผมเลยไม่ต้องเอาอะไรไปเปรียบเทียบกับใครครับ
มีเพื่อนๆ หลายคนชวนไปสอบเป็นข้าราชการ ผมไม่อยากไปเพราะเสียดายความรู้ที่เรียนมาจะไม่ได้เอาไปใช้ เพื่อนๆ ผมอยากเป็นข้าราชการเพราะต้องการความมั่นคง แต่ผมเชื่อว่าความมั่นคงสร้างเองได้ครับ ถ้าทำงานเต็มที่ ใส่ใจกับผลของงานให้มากที่สุด และพัฒนาคุณภาพงานเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ว่ามันน่าจะเป็นความมั่นคงในแบบของผมนะครับ
จนถึงวันนี้ ผมต้องมาฝ่าฟันเพื่อเอาปริญญาเอกอีกใบ มันก็คือความลำบากอีกอย่างหนึ่งของการทำงานแหละครับ แต่ผมคิดว่าผมพอรับไหวและยังสู้ได้เรื่อยๆ เพราะผมรู้ว่าผลตอบแทนที่ได้มันสำคัญมากมายเหลือเกิน
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกผู้อ่านทุกท่าน (ที่ยังอ่านมาจนถึงตรงนี้) ว่า ความสุขในชีวิตมันขึ้นอยู่กับความพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ครับ อย่าไปเปรียบเทียบกับอะไร อย่าไปโทษอะไร เอาตัวเราเป็นจุดยืนเข้าไว้ แล้วทำในสิ่งที่ต้องทำให้ดีที่สุดครับ

แล้วคุณพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหนครับ :)

180 | เราพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่แค่ไหน (1)

(เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.gotoknow.org/posts/548491 วันที่ 17 กันยายน 2556)

เมื่อวานได้อ่านกระทู้หนึ่งในพันทิป (http://pantip.com/topic/30980964) ซึ่ง จขกท.ได้เล่าถึงเรื่องของเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เคยเรียนมัธยมมาด้วยกัน แต่เรียนแย่มาก สอบเอ็นทรานซ์ไม่ติดต้องไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน แถมเรียนไม่จบอีก แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัท 2 แห่ง เจ้าของโรงงานและคอนโดฯ อีกหลายๆ ที่ มีบ้านหรูหรา ขับรถสปอร์ต และมีแฟนหน้าตาดีเอามากๆ เรียกได้ว่าร่ำรวยและประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว
จขกท.เอามาเปรียบเทียบกับตัวเองที่สมัยเรียนก็เรียนได้อันดับต้นๆ ตลอด สอบติดมหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง จบมาด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง เรียนสูงถึงระดับปริญญาโทและทำงานในบริษัทที่รับเงินเดือน 40,000 กว่าบาท ซึ่งดูๆ แล้วสิ่งที่ จขกท.เชื่อมั่นคือการศึกษาจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ทำไมเพื่อนของเขาที่ต้นทุนชีวิตแย่มาตลอดถึงได้ร่ำรวยและดูจะมีอะไรเหนือกว่าเขาทุกอย่างถ้าเอามาเปรียบเทียบกัน
หลายๆ ความคิดเห็นที่ตอบๆ กันมาก็ดูจะปรามาส จขกท.ว่าเอาการศึกษามาเป็นตัวชี้วัดคนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะคนที่แม้จะไม่ได้เรียนหรือเรียนไม่สูงก็ยังสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้เช่นกัน บ้างก็ว่าระบบการศึกษาไทยปัจจุบันไม่ได้สอนคนให้คิดสร้างหรือริเริ่มธุรกิจเอง สอนคนไปเพื่อไปเป็นลูกน้องลูกจ้างคนอื่น อะไรประมาณนี้
จากที่อ่านมาทั้งหมดแล้ว ผมรู้สึกว่ามันมีอะไรหลายอย่างสะกิดใจ จนอยากจะเอามาระบายความคิดให้ผู้อ่านได้แลกเปลี่ยนกันครับ
(ผมไม่ได้ไปเสนอความคิดเห็นในกระทู้นั้นเพราะว่าส่วนใหญ่กระทู้พันทิปความคิดเห็นหลังๆ ไม่ค่อยมีคนอ่าน อีกอย่างคือไม่อยากเจอเกรียนครับ 555555)

ในแง่มุมเกี่ยวกับการศึกษา
ไม่ว่ายังไงผมก็ยังเห็นด้วยกับ จขกท.ว่า การศึกษามีความสำคัญครับ ในยุคสมัยนี้ต้องยอมรับว่าสังคมเรา ปริญญาและตัวเลขผลการเรียนจะถูกให้ความสำคัญมาก่อนอย่างอื่นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าต้นทุนด้านการศึกษาคุณไม่ดี คุณอาจจะต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นหน่อยละ ตรงนี้บางคนอาจจะแย้งว่า การศึกษาไม่ใช่คำตอบของการประสบความสำเร็จเสมอไป ผมก็ยอมรับว่าจริงบางส่วนครับ ลองมองย้อนไปถึงบรรพบุรุษของเรา...เอาแค่รุ่นพ่อแม่เราก็ได้ครับ เชื่อว่าครอบครัวส่วนใหญ่ (รวมถึงครอบครัวผม) พ่อแม่จะเรียนหนังสือมาน้อยหรือไม่ก็ยากจนมาก่อน แต่ที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบันได้นั่นคือพวกท่านต้องใช้ความสามารถอย่างอื่นเป็นอย่างมากเพื่อที่จะมาทดแทนโอกาสที่ท่านเสียไปจากตรงนั้น เป็นความจริงใช่ไหมครับที่ทุกวันนี้พ่อแม่มักจะทำงานหนักเพื่อหาเงินส่งเสียให้ลูกได้เรียนดีๆ เรียนสูงๆ เพราะว่าท่านไม่อยากให้ลูกของท่านต้องลำบากเหมือนสมัยท่านนั่นแหละครับ เห็นได้ชัดเจนว่าคนที่เคยลำบากมาก่อนจะรู้ดีถึงความสำคัญของการศึกษา
กลับไปดูเพื่อนของ จขกท.สิ่งที่เขาเลือกจะมองเพื่อนก็คือสิ่งที่เพื่อนประสบความสำเร็จแล้ว มีบ้านมีรถมีนู่นนี่ๆ นั่นมากมาย แต่ถ้ามองย้อนไปว่ากว่าเพื่อนของ จขกท.จะมีทุกอย่างที่เห็นได้ เขาอาจจะลำบากยากเข็ญในการทำงานมามากกว่าตัว จขกท.เองก็ได้ (ถ้าเพื่อน จขกท.ไม่ได้บ้านรวยอยู่แล้วนะ) ผมเชื่อครับว่าสิ่งที่เพื่อน จขกท.มีทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการทำงานหนักมาอย่างโชกโชน ผ่านความลำบากและล้มเหลวมาแล้วอย่างแน่นอนครับ
ยกตัวอย่างใกล้ตัว เพื่อนของผมคนหนึ่งในกลุ่มปาร์ตี้ด้วยกัน จบ ม.ปลายมาพร้อมกันแต่หมอนั่นไม่ยอมเรียนต่อ ปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านขายโทรศัพท์มือถือในจังหวัดบ้านเกิด ขับรถยนต์มารับพวกผมไปเลี้ยงมื้อหรูประจำ ชีวิตตอนนี้ถือว่าสุขสบายครับ แต่กว่ามันจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่สบายเลยครับ เพราะจบ ม.6 ไปหางานทำก็มีแต่งานที่รับวุฒิ ม.6 รายได้น้อยต้องเก็บหอมรอมริบมาตลอด พวกผมตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็แสนสบาย นัดกินนัดเที่ยวกันเรื่อย แต่เพื่อนคนนี้ไม่เคยมาร่วมเลยครับ เหตุผลในการใช้เงินของพวกเรากับของมันต่างกันลิบ พอทำงานเก็บเงินจนได้เงินก้อนแล้วก็เอาไปลงทุนทั้งที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ ขาดทุนเจ๊งแล้วเจ๊งอีก เป็นหนี้มากมายจนกว่าจะจับทางได้ จนทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้วถึงจะได้สบายสักทีครับ
ส่วนความคิดที่ว่า ระบบการศึกษาไทยสอนคนไปเป็นลูกจ้าง ไปเป็นลูกน้องเขา ไม่ได้สอนให้ริเริ่มทำอะไรเอง ผมไม่เห็นด้วยนะครับ ไม่งั้นประเทศเราก็คงไม่มีคนไทยเป็นเจ้าของกิจการอะไรแล้วละ ความคิดแบบนี้ออกจะโทษระบบเกินไปหน่อย คือผู้เรียนนี่แหละครับเป็นตัวสำคัญ การเรียนในระบบจะได้อะไรไปมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวผู้เรียนเป็นสำคัญครับว่าจะขวนขวายกอบโกยมากน้อยแค่ไหน ไม่ควรจะคิดในทางคาดหวังว่าการศึกษาจะให้อะไรเรา แต่อยากให้มองว่า เราจะได้อะไรจากการศึกษามากกว่า
ดังนั้นผมมองว่า ระบบเป็นเพียงแนวทาง แต่สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับไปจากการศึกษาในระบบนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียนเองครับ
ผมได้เห็นตัวอย่างมากมายจากเพื่อนรอบตัวและลูกศิษย์หลายๆ คน บางคนค้นพบแนวทางตั้งแต่ตอนเรียน และเขาจะพบว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเขาไม่ใช่ปริญญาบัตรอีกต่อไป แต่เป็นความรู้หลากหลายที่เขาจะต้องกอบโกยไว้เพื่อที่จะเอาไปใช้ประโยชน์กับสิ่งที่เขาค้นพบได้หลังจากที่จบการศึกษาไปแล้ว ตัวอย่างเช่นนักศึกษาคนหนึ่งเรียนสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และเขาพบว่าตัวเองสนใจการประกอบธุรกิจด้านไอที เขาเบนความสนใจไปในบางรายวิชาเป็นพิเศษ เช่น e-Commerce, เศรษฐศาสตร์เบื้องต้น สุดท้ายเขาจบมาด้วยเกรดเฉลี่ยปานกลางและเปิดกิจการเป็นของตัวเองพร้อมกับขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตเป็นอาชีพเสริม การเป็นเจ้าของกิจการที่ว่านั้นไม่มีวิชาไหนในหลักสูตรที่สอนแต่เป็นสิ่งที่เขาหาแนวทางของเขาเจอ ส่วนวิชาอื่นๆ ที่เขาสนใจเป็นพิเศษนั้นสามารถเอามาใช้ในกิจการของเขาได้เป็นอย่างดี
(ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ผมไม่ชอบเอามากๆ แต่กลับเผยแพร่กันอย่างมากมายในอินเตอร์เน็ต คือการหยิบเอา Bill Gates, Steve Jobs และ Mark Zuckerberg มายกตัวอย่างว่าเรียนไม่จบมหาวิทยาลัยแต่ก็ประสบความสำเร็จเป็นเศรษฐีพันล้านมีชื่อเสียงโด่งดังได้ มันไม่ได้หมายความว่าทั้งสามคนขี้เกียจเรียนจนไม่จบแต่ประสบความสำเร็จนะครับ)

ในแง่มุมเกี่ยวกับความสำเร็จ
ถ้าเราจะมองว่าความสำเร็จในชีวิตนั้นคือสิ่งที่ต้องเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเหนือกว่าหรือด้อยกว่า ผมว่ามันคงเป็นความคิดที่ไม่ดีนัก เพราะเราจะไม่มีความพอใจเลย ถ้าเราเหนือกว่าใครคนหนึ่งได้ เราก็จะมองคนที่เหนือกว่าเราและพยายามจะเหนือกว่าเขาให้ได้อีก นั่นหมายความว่าเราจะไม่มีวันพอใจกับสิ่งที่เรามี แต่ถ้าเราเลิกมองเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วหันมามองความพอใจที่มีเฉพาะตัวเองแล้ว เราจะรู้ครับว่า แค่ไหนคือน้อยไป แค่ไหนคือพอดี และแค่ไหนคือมากเกินไป ผมเคยเห็นบางคนที่มีหน้าที่การงานประจำ มีรายได้ดีและสม่ำเสมอ แต่ก็ยังอยากได้อยากมีเหมือนคนที่เหนือกว่าเขา ทั้งๆ ที่สิ่งที่เขามีและเป็นอยู่ตอนนี้มันก็เพียงพอเหลือเกินแล้วกับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ผลที่ได้คือชีวิตของเขาไม่มีความพอเลยครับ ไม่มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองมีเลยสักอย่าง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะอยู่ไปวันๆ กับสิ่งที่มีตอนนี้ก็พอแล้วนะครับ ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้สิ่งที่เรามีนั้นมันยังคงอยู่ต่อไป ไม่เสื่อมสลายไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ส่วนมันจะงอกเงยได้หรือไม่นั้นผมอยากจะมองให้มันเป็นกำไรมากกว่าครับ ยกตัวอย่างว่า ถ้าคุณทำงานประจำของคุณซึ่งคุณทำมันได้ดีที่สุดแล้ว วันหนึ่งวันใดถ้ามีคนที่มีความสามารถเหนือกว่าคุณเข้ามาทำงานในองค์กรเดียวกัน นั่นหมายความว่าความมั่นคงของคุณอาจสั่นคลอนได้ถ้าคุณไม่รักษาความสามารถที่มีต่องานของคุณไว้หรือทำให้มันดีขึ้น ถ้าองค์กรเคยจ้างคุณด้วยเงินจำนวนหนึ่ง เขาอาจเอาเงินจำนวนนั้นไปจ้างคนที่เก่งกว่าคุณแทนก็ได้ แล้วความมั่นคงที่คุณมีอยู่ก็จะเปลี่ยนไปใช่ไหมครับ
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวองก็คือ มันจะส่งผลให้งานที่คุณทำมีคุณค่ามากขึ้น แม้คุณจะไม่ได้อะไรกลับมาเลยก็ตามแต่สิ่งที่คุณสร้างจะก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้นกับสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนครับ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติผมสอนหนังสือในวิชาคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ผมสามารถทำสื่อการสอนที่มีเนื้อหาครอบคลุมตามเกณฑ์มาตรฐาน (เช่น ประเภทของคอมพิวเตอร์มีดังนี้ Mainframe Computer, Super Computer, Personal Computer บลาๆๆ) และใช้สื่อนั้นสอนไปได้เรื่อยๆ กี่ปีก็ตาม หรือจนกว่าจะมีการปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรใหม่นั่นแหละ ซึ่งผมก็สามารถสอนแบบนั้นได้แบบสบายๆ ไปได้เรื่อยๆ ใช่ไหมครับ
แต่ถ้าเราลองศึกษาข่าวสารในวงการไอทีอยู่เป็นประจำ เราอาจจะพบว่ามันมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นซึ่งสามารถเอามาสอนหรือปรับปรุงเนื้อหาเพิ่มเติมได้ (เมื่อก่อนเรานับ PDA เป็นคอมพิวเตอร์ประเภทหนึ่ง ตอนนี้ก็คงต้องนับ Smartphone, Tablet หรือแม้แต่ Wearable Device อย่าง Google Glass, Samsung Galaxy Gear เข้าไปด้วย) ดังนั้นผมก็จะต้องมีงานเพิ่มขึ้นในแต่ละเทอมเพื่อที่จะปรับปรุง Slide, ปรับปรุง Sheet, Quiz และข้อสอบ ซึ่งถ้าผมไม่ทำจะเป็นไรมั้ย ก็ไม่เป็นนี่ครับ เงินเดือนก็เท่าเดิม อะไรๆ ก็เหมือนเดิมแต่เหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่มันเป็นสิ่งที่ควรทำครับ เพราะนักศึกษาที่เราสอนจะได้รับความรู้ใหม่ๆ จากเรา ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวพวกเขาเองในอนาคต ผลตอบแทนที่ผมได้นั้นไม่มี แต่สำหรับนักศึกษาแล้วเขาได้เต็มๆ ครับ
สำหรับบางท่านที่ไม่ได้ทำงานด้านการสอน ตัวอย่างนี้อาจจะดูไกลไปนิด เคยได้ยินคำพูดประมาณนี้ไหมครับ ประเภทที่ว่า...ทำงานเป็นลูกจ้างเขา ขยันไปก็ไม่ได้อะไร คนที่ได้ประโยชน์ก็คือนายทุนหรือเจ้าของกิจการทั้งนั้น...
ลองคิดดูครับ โฆษณาประกันชีวิตมีเรื่องราวของผู้คนหลากหลายที่ต้องต่อสู้กับชะตากรรมในชีวิตของเขา เวลาเราดูทางโทรทัศน์แล้วต้องน้ำตาคลอ ได้รับแรงบันดาลใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป มันอาจจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าผู้สร้างเลือกที่จะทำงานแค่พอตัว เช่น ทำโฆษณาที่พูดออกมาตรงๆ ไม่เคลมมีคืน ฯลฯ อะไรประมาณนั้น ซึ่งถามว่าชัดเจนไหม ชัดเจนครับ บริษัทประกันได้โฆษณาที่ตอบโจทย์ไหม ก็ได้ครับ แต่คนที่ดูโฆษณากลับได้อะไรมากกว่านั้น นี่คือคุณค่าที่มองไม่เห็นแต่คุณจะสัมผัสได้ครับ
บทความนี้เอาแค่นี้ก่อน ตอนต่อไปจะเล่าเรื่องตัวเองบ้างครับ โปรดติดตามอ่านและติชมเสนอแนะ :)

14 กันยายน 2556

179 | คุยกันเรื่อง Ontology

(เผยแพร่ครั้งแรกใน http://www.gotoknow.org/posts/548199/ วันที่ 14 กันยายน 2556)

หลังจากห่างหายไปกว่า 5 ปี อจ.โอม ก็ชวนกลับมาเขียนกันอีกครั้ง ผมเลยมานั่งนึกว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีที่พอจะมีประโยชน์กับตัวเอง+ผู้อ่านบ้าง นึกไปนึกมาก็เลยเลือกเอาเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่ตอนนี้มาเล่าให้ฟังครับ นั่นก็คือเรื่องของ Ontology (ออนโทโลยี) นั่นเองครับ ซึ่งสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นสำนวนและการเรียบเรียงของผมเองเพื่อความเข้าใจง่ายๆ อาจไม่ถูกต้องตาม References เป๊ะๆ นะครับ ถือว่าอ่านเพลินๆ ละกัน :)
------------------
เกี่ยวกับ (About Ontology)
Ontology ในทางวงการคอมพิวเตอร์แล้ว มันก็คือ นิยามของอะไรสักอย่างที่เราสนใจซึ่งเป็นความจริงเสมอและไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเราพูดถึงคน เราจะมองเห็นว่านิยามของคนเนี่ยมีอะไรเป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องบ้าง เช่น คนมีแขนสองข้าง, มีขาสองข้าง, มีตาสองดวง, มีเพศชายและหญิง, มีสีผิวขาว เหลือง หรือดำ, มีผมตรง หยิก หรือหยักศก, มีอายุ, มีความสัมพันธ์ในลักษณะของครอบครัว ฯลฯ อะไรต่างๆ เหล่านี้ที่เรานึกออก มันเป็นความจริงเสมอใช่ไหมครับ (ไม่มีคนในประเทศไหนหรือเชื้อชาติใดที่เกิดมามีแขนข้างเดียวทุกคน หรือเกิดมาโดยไม่มีครอบครัวกันทุกคนหรอกเนอะ) ความจริงตรงนี้แหละครับคือความรู้ (Knowledge) ที่เราเอามาออกแบบให้มันเกิดเป็นโครงสร้างที่คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจได้ โดยประโยชน์หลักๆ ของ Ontology ก็คือ เอาไปใช้ในงานทางด้าน Semantics เช่น การสืบค้นในเว็บสื่อความหมาย เป็นต้น

การสร้างและออกแบบ (Ontology Development & Design)
โดยทั่วไปเรามักจะเห็นการออกแบบ Ontology อยู่ในรูปแบบของกราฟ เพราะว่ามันดูแล้วเข้าใจง่ายใช่ไหมครับ จริงๆ แล้ว Ontology มันมีรูปแบบเป็นลำดับชั้นที่แตกแขนงความสัมพันธ์ออกมาในลักษณะของ Class และ Subclass อย่างเช่นรูปตัวอย่างข้างล่าง

ตัวอย่าง Ontology
(Z. Yuanfeng and Z. Liang. Curriculum knowledge organization and representation based on ontology. Electrical and Control Engineering (ICECE), 2011 International Conference on, 16-18 Sept. 2011, pp.6465 - 6468)
ซึ่งเวลาเราสร้างหรือออกแบบ Ontology เนี่ย มันจะมี Tools หลายๆ ตัวที่เอามาออกแบบและสร้างได้อย่างง่ายดายในรูปแบบ GUI เช่น Tools ที่ผมชอบและใช้มาตลอดก็คือ Protégé หรืออีกตัวหนึ่งที่ NECTEC ชอบใช้ก็คือ Hozo ซึ่งเวลาเราออกแบบเสร็จแล้วมันจะสร้างไฟล์ออกมาในรูปแบบของ OWL ครับ (ซึ่งโครงสร้างภาษาเป็นแบบ XML) ตัวอย่างของ OWL ก็อย่างเช่น


การสืบค้น (Query)
พูดถึงการสืบค้น ในการสืบค้นข้อมูลจาก Ontology ซึ่งถ้าเราเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล มันจะมีตารางเป็นโครงสร้าง และมีข้อมูลจัดเก็บในตารางใช่ไหมครับ สำหรับ Ontology เรามีโครงสร้างในรูปแบบ Class และมีข้อมูลที่เรียกกันว่า Instance (หรือบางแหล่งเรียกว่า Individual) ที่จัดเก็บโดยอ้างอิงกับโครงสร้าง Class เช่นกัน เช่น Class ชื่อ Father (คุณพ่อ) ก็จะมี Instances ประกอบด้วย นาย ก. นาย ข. ฯลฯ เป็นต้น
ถ้าระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ (DBMS) ใช้ภาษา SQL ในการสร้างคำสั่งสืบค้นข้อมูลจากตาราง Ontology ก็มีภาษาสืบค้นเหมือนกันครับ นั่นคือ SPARQL (สปาร์เคิล) ซึ่งมีรูปแบบภาษาคล้ายๆ กับ SQL นี่แหละครับ รูปแบบของ SPARQL ก็อย่างเช่นตัวอย่างด้านล่าง

SELECT ?name ?age
WHERE
{
Person:hasName ?name;
Person:hasAge ?age;
}
ORDER BY ?name LIMIT 3

อธิบายคำสั่งข้างบนคร่าวๆ คือ ต้องการเลือกข้อมูลชื่อ และอายุของคนใดๆ จาก Ontology ชื่อ Person โดยเลือกเอาจาก Class ที่มี Object Properties คือ hasName (มีชื่อ) และ hasAge (มีอายุ) โดยที่ ?name และ ?age ก็เปรียบเสมือนตัวแปรที่เราสร้างมารองรับผลลัพธ์นั่นเอง โดยต้องการให้ผลลัพธ์เรียงลำดับตามชื่อ และเอาแค่ 3 Records เท่านั้น เห็นไหมครับว่าคล้ายกับภาษา SQL มากอยู่พอสมควรเลย

การอนุมาน (Inference)
ความน่าสนใจอีกอย่างของ Ontology ก็คือ เราสามารถใช้การอนุมาน (Inference) ผ่านกฏที่เราสร้างขึ้น เพื่อให้ Ontology ที่ออกแบบและสร้างไว้แล้ว สามารถเรียนรู้ความรู้ใหม่ๆ ได้เสมอผ่านกฏของเรา ภาษากฏที่ใช้กับ Ontology ชื่อว่า SWRL (ไม่รู้อ่านว่าอะไร 55555) โดยใช้ร่วมกับ Rule Engine เพื่อการอนุมานกฏ ซึ่งตัวที่นิยมใช้กันเยอะๆ ก็คือ JESS ครับ
ภาษา SWRL มีรูปแบบของภาษาดังตัวอย่างนี้ครับ

Person(?x) ^ hasFather(?x, ?y) ^ hasBrother(?y, ?z) -> hasUncle(?x, ?z)

อธิบายคำสั่งข้างบนก็คือ ?x เป็นคน (Class Person) ?x มีพ่อ (Object Property hasFather) คือ ?y และ ?y มีพี่ชาย (Object Property hasBrother) คือ ?z ดังนั้น ?x จะมี ?z เป็นลุงนั่นเอง (Object Property hasUncle)

การสร้างกฏและอนุมานกฏนี้มีประโยชน์มากครับ เพราะเราสามารถให้ความรู้ใหม่ๆ กับ Ontology ที่เราสร้างขึ้นได้เรื่อยๆ เช่น เราสร้าง Ontology เกี่ยวกับคน ซึ่งมีการกำหนดความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไว้บ้างแล้ว เช่น ความเป็นพ่อ, แม่, พี่น้อง, สามีภรรยา เราก็สามารถสร้างกฏเกี่ยวกับความเป็นลุง, ป้า, ปู่, ย่า, ตา, ยาย ฯลฯ ให้ Ontology สามารถอนุมานความสัมพันธ์เพิ่มเติมตามกฏได้
และหากในอนาคตเกิดเราต้องการความสัมพันธ์ของคนในรูปแบบ พี่เขย หรือพี่สะใภ้ เพิ่มเติมขึ้นมา เราไม่จำเป็นต้องไปแก้ไข Ontology หรือออกแบบใหม่ให้วุ่นวายครับ แค่เขียนกฏความเป็นพี่เขยและกฏของความเป็นพี่สะไภ้ขึ้นมา แล้วทำการอนุมานได้เลย แค่นี้ก็เรียบร้อย สะดวกดีไหมครับ :)
ดังนั้นถ้าเราออกแบบดีๆ และสร้างกฏที่ค่อนข้างครอบคลุมแล้ว Ontology เราสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและ (แทบจะ) ไม่ล้าสมัยแน่นอนครับ
------------------
ที่เล่ามาเหล่านี้ทั้งหมดก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับ Ontology ที่ผมกำลังสนใจอยู่ตอนนี้ครับ หวังว่าคงจะมีประโยชน์บ้างสำหรับคนที่สนใจศึกษาหรือต้องการทำวิจัยเกี่ยวกับ Ontology หรือไม่ก็ถือว่าเอาความรู้มาแลกเปลี่ยนกันครับ ทั้งนี้หากผู้อ่านมีข้อเสนอหรือข้อชี้แนะใดๆ ผมยินดีรับฟังและแก้ไขด้วยความขอบคุณยิ่งครับ
ถ้ามีโอกาสคราวหน้าจะมาเล่าถึงงานวิจัยที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ (Ontology Mapping) แล้วพบกันใหม่ครับ :)