หน้าเว็บ

06 พฤศจิกายน 2555

167 | ย้อนอดีตเมืองสองแคว

เขียนไว้ครั้งแรกใน Facebook เมื่อสักพักนี้เองครับ เลยเอามาเก็บไว้ใน Blog ด้วยละกัน

................................................................

ในฐานะที่เป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์คนนึง นี่เป็นการเดินทางที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่มาพิษณุโลกใหม่ๆ แล้ว เพราะเมืองนี้มีโบราณสถานน่าสนใจและมีเรื่องราวเยอะแยะมาก วันนี้มีโอกาสได้เข้าเมืองตอนกลางวัน (ไปต่อใบขับขี่) เลยตระเวนเก็บบรรยากาศมาได้พอสมควรครับ

รายละเอียดของสถานที่ต่างๆ ขอเล่าพอสังเขปละกัน ใครสนใจก็ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเอานะครับ


พระราชวังจันทน์


พระราชวังจันทน์ ที่เหลือแต่รากวังในวันนี้ เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้วว่าที่นี่น่าจะเป็นที่พระราชสมภพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ส่วนตัววังนั้นถูกสร้างมาก่อนน่าจะตั้งแต่สมัยที่พระยาลิไทสร้างเมืองพิษณุโลกครับ

วัดวิหารทอง


วัดวิหารทอง วัดร้างที่อยู่ใกล้ๆ กับวังจันทน์ (ด้านซ้ายของวัง) ท่านมุ้ย (ผกก.ตำนานสมเด็จพระนเรศวรฯ) ทรงสันนิษฐานว่าวัดวิหารทองน่าจะเป็นวัดในวัง (จากเดิมที่คาดว่าน่าจะเป็นวัดใหญ่) แบบเดียวกับวัดพระแก้วในพระบรมมหาราชวัง ตอนนี้ก็เริ่มมีหลักฐานสนับสนุนบ้างแล้วเพราะมีการขุดบริเวณรอบวังเพิ่มขึ้นแล้วก็พบว่า เขตของวังไม่ได้มีแค่ที่เห็นในปัจจุบันแน่ๆ

ริมแน่น้ำน่านจากวังจันทน์


แม่น้ำน่านมองจากบริเวณหน้าวังจันทน์ บริเวณนี้น่าจะเป็นจุดที่พระมหาธรรมราชาเริ่มปล่อยแพไฟไปทำลายทัพเรือของพระมหินทราธิราชที่ตั้งค่ายอยู่แถววัดจุฬามณี

ดูฉากนี้ได้จากหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราชภาค 1

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่)


วิหารที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช ถูกสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยรัชกาลของพระยาลิไท ตัววิหารยังอยู่ในลักษณะเดิมแต่ได้รับการบูรณะมาตลอด สิงห์คู่ที่ตั้งอยู่หน้าประตูเป็นของที่ถวายโดยสมเด็จเจ้าสามพระยา กษัตริย์องค์ที่ 8 แห่งกรุงศรีอโยธยาศรีรามเทพนคร

พระพุทธชินราช


พระพุทธชินราช เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก จากคำร่ำลือว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามที่สุดองค์หนึ่งของโลก และเป็นที่เคารพสักการะของกษัตริย์ไทยแทบทุกพระองค์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

จากข้อมูลที่ได้จากหนังสือของทางวัด พระพุทธชินราชเดิมไม่ได้ลงรักปิดทองอย่างที่เห็น มีบันทึกการลงรักปิดทองทั้งหมด 3 ครั้งในประวัติศาสตร์คือ ครั้งแรกในสมัยพระเอกาทศรถ ครั้งที่สองในสมัยรัชกาลที่ 5 และครั้งล่าสุดในสมัยรัชกาลที่ 9 คือเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง (โชคดีที่ผมได้มาเห็นตอนนั้นพอดี)

ถ้าใครเคยไปดูพิพิธภัณฑ์ในวิหารพระพุทธชินสีห์ที่อยู่ข้างๆ จะเห็นว่ามีของล้ำค่ามากมายที่กษัตริย์และบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์หลายต่อหลายท่านนำมาถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธชินราชและทางวัดได้เก็บรักษาเอาไว้อย่างดี ทุกวันนี้วิหารพระพุทธชินราชก็ยังมีคนเข้ามากราบไหว้บูชาอยู่ทุกวันไม่เคยขาด ทางวัดเลยเลื่อนเวลาปิดวิหารให้ถึง 3 ทุ่ม

ถ้ายังจำกันได้ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ได้มาไหว้พระพุทธชินราชเป็นแห่งสุดท้ายและช็อคหมดสติหลังจากไหว้เสร็จในตอนบ่าย และเสียชีวิตในตอนเกือบสามทุ่มของวันนั้นเอง

พระเหลือ


วิหารพระเหลือ ว่ากันว่าพระองค์ที่เห็นข้างในสร้างขึ้นจากทองที่เหลือจากการสร้างพระพุทธชินราช, พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เลยมีขนาดองค์เล็กๆ อย่างที่เห็น

ส่วนตัววิหารได้รับการบูรณะโดยรัชกาลที่ 5 สมัยเป็นสามเณรตามเสด็จพระราชบิดา (รัชกาลที่ 4) มาสักการะที่นี่ สังเกตตราประจำพระองค์ (ตราพระเกี้ยว) ที่หน้าบันของวิหาร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระพุทธชินราช



กลองมโหระทึกสมัยโบราณ ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ที่ถูกปล่อยปละละเลยไว้อย่างน่าเสียดาย (ขนาดมีลูกแมวมานอนเล่นบนโบราณวัตถุได้)

พระอัฏฐารสและวิหารเก้าห้อง


พระอัฏฐารส เดิมไม่ได้อยู่กลางแดดแบบนี้แต่อยู่ในวิหารเก้าห้องเหมือนพระองค์อื่นๆ แต่ตัววิหารพังไปเหลือแต่ซากอย่างในภาพตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่มีแหล่งข้อมูลใดกล่าวถึง ตัวองค์พระก็ได้รับการบูรณะใหม่อย่างมากมายชนิดว่าถ้าไปเห็นภาพถ่ายสมัยโบราณก่อนการบูรณะอาจจะคิดว่าเป็นคนละที่กันเลย

ฉากวิหารและพระอัฏฐารสดูได้ในหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 2 ช่วงต้นเรื่อง

พระปรางค์


พระปรางค์ ข้างในมีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ไปทีไรก็ไม่เคยได้ขึ้นไปไหว้ของจริงสักครั้งเพราะทางวัดปิดประตูทางขึ้นไว้ตลอด

กำแพงเมืองพิษณุโลก


กำแพงเมืองพิษณุโลก อยู่บริเวณวัดโพธิญาณ (เลยวัดใหญ่ไปประมาณ 2.5 กม.) เป็นซากกำแพงเมืองเท่าที่เหลืออยู่ ถูกสร้างแล้วก็บูรณะมาหลายยุคหลายสมัย จนต้องมาถูกรื้อเหลือแต่รากกำแพงในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อป้องกันไม่ให้พม่าใช้ประโยชน์ได้ อิฐหินที่รื้อมาถูกขนไปสร้างกรุงเทพฯ รวมกับอิฐหินที่รื้อมาจากกำแพงหัวเมืองทางเหนืออีกหลายที่

เจดีย์วัดอรัญญิก


เจดีย์วัดอรัญญิก ข้อมูลจากป้ายในวัดบอกว่าสร้างในสมัยสุโขทัยโดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เคยถูกใช้เป็นที่พำนักของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาวงศ์ที่เชิญมาจากนครศรีธรรมราชเพื่อมาฟื้นฟูศาสนาในกรุงสุโขทัย และเป็นวัดที่กษัติรย์ไทยในสมัยก่อนเสด็จมาบูรณะหลายพระองค์

ตอนที่เข้าไปดูเจอพวกแว้นเยอะมาก ??

โบสถ์วัดอรัญญิก


ซากโบสถ์วัดอรัญญิก ถูกปล่อยรกจนเข้าไปข้างในไม่ได้ ตัววัดจริงๆ ปัจจุบันถูกพัฒนาใหม่แยกส่วนออกมาจากซากวัดเดิม มีโรงเรียนและโบสถ์ ศาลาใหญ่โต

แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมมีเด็กแว้นในวัดนี้เยอะจริงๆ

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1


พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ในรูปแบบที่อ้างถึงสมัยยังเป็นเจ้าพระยาจักรีแม่ทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช

อนุสาวรีย์นี้ถูกสร้างขึ้น ณ สถานที่ที่อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพพม่าขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีในคราวศึกที่พิษณุโลก (เพราะพม่าทำยังไงก็ตีพิษณุโลกไม่แตกสักที แสดงว่าต้องมีแม่ทัพเก่งเวอร์) ในการดูตัวครั้งนั้นอะแซหวุ่นกี้ทำนายว่าเจ้าพระยาจักรีนั้นต่อไปในภายภาคหน้าจะได้เป็นถึงกษัตริย์อย่างแน่นอน (แล้วก็เป็นจริงๆ)

สถานที่นี้ตั้งอยู่หน้าสถานีตำรวจครับ ฟุตบาธตีเส้นขาวแดงรอบเลยจะจอดรถลงไปไหว้ก็ระวังๆ หน่อยละกัน

(ของแถม : พระนามของรัชกาลที่ 1 ดังเดิมเรียกกันว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นะครับ ส่วนสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นเป็นพระนามที่รัชกาลที่ 3 ถวายพร้อมกับพระนามสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยของรัชกาลที่ 2 เช่นกัน)

พระปรางค์วัดจุฬามณี

 

วัดจุฬามณี สถานที่ๆ ร่ำลือกันว่าผีดุเหลือเกิน เป็นวัดโบราณสร้างมาแต่สมัยก่อนสุโขทัยอีก เห็นได้จากซากพระปรางค์ที่เป็นศิลปะแบบขอม วัดนี้ได้รับการกล่าวถึงในประวัติศาสตร์อยู่มาก ที่สำคัญๆ เลยก็น่าจะเป็นเพราะ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ กษัตริย์องค์ที่ 9 แห่งกรุงศรีอโยธยาศรีรามเทพนคร เคยเสด็จมาบูรณะวัดนี้ แล้วก็ทรงผนวชอยู่ที่วัดนี้ถึง 8 เดือน (จริงๆ แล้วในรัชสมัยของพระองค์ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับอยู่ที่กรุงศรีฯ แค่ 20 ปี นอกนั้นประทับอยู่ที่พิษณุโลกตลอด)

ในอดีตนักประวัติศาสตร์ไทยโบราณก็มาเยือนที่วัดจุฬามณีนี้หลายต่อหลายท่าน ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 (บันทึกของทางวัดบอกว่าเสด็จมาแต่หาวัดไม่เจอเพราะคิดว่าอยู่ในตัวเมือง) หรือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยก็เคยบอกว่าวัดนี้มีโบราณสถานที่ทรงคุณค่ามาก

มณฑปวัดจุฬามณี


มณฑปของวัดจุฬามณี ในหนังสือ เจ้าชีวิต ของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์บอกว่าวัดจุฬามณีเป็นวัดร้าง แต่ตอนนี้ไม่ได้ร้างแล้วเพราะว่าถูกชาวบ้านแถวนั้นเรี่ยไรเงินบูรณะขึ้นในช่วงหลัง ตอนนี้เป็นวัดที่ค่อนข้างใหญ่เลยทีเดียว

ศิลาจารึกวัดจุฬามณี


ศิลาจารึกอยู่บริเวณด้านหลังมณฑป จารึกขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พูดถึงเรื่องเกี่ยวกับวัดนี้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่าไปเรื่อยๆ ช่วงครึ่งหลังเสียหายไม่เหลือตัวอักษรให้อ่าน (สังเกตด้านล่างๆ ของภาพ) ลองอ่านดูก็รู้เรื่องมั่งไม่รู้มั่งเพราะใช้คำโบราณอ่านแล้วงงๆ

แต่ที่น่าตกใจคือทางวัดเก็บรักษาโดยทำเป็นตู้ไม้มีประตูกระจกครอบจารึกนี้ไว้ (คือศิลาจารึกมันติดอยู่กับผนังมณฑป) ตู้ไม้เก่าผุพังจะแย่แล้ว ภาพนี้ถ่ายได้ค่อนข้างชัดเพราะผมแอบเปิดประตูกระจกออกแล้วค่อยถ่าย :P

พระตำหนัก


ตรงนี้เชื่อกันว่าเป็นพระตำหนักของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อครั้งทรวงผนวชที่วัดจุฬามณี อยู่นอกกำแพงวัดออกไปทางแม่น้ำน่าน ตามป้ายที่ติดไว้บอกว่าเป็นเพียงคำเล่าต่อกันมา ยังไม่มีหลักฐานอ้างอิงว่าเดิมเป็นอะไรกันแน่

ริมแน่น้ำน่านจากชุมชนวัดจุฬามณี


ริมแม่น้ำน่าน ถ่ายจากหมู่บ้านแถวๆ วัดจุฬามณี ซึ่งที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งค่ายทัพของพระมหินทราธิราชเมื่อครั้งยกทัพจากกรุงศรีอโยธยาศรีรามเทพนครมาปราบพระมหาธรรมราชาที่เมืองพิษณุโลก

ดูแล้วกองทัพของพระมหินทร์ฯ คงน่าจะตั้งทัพเรือแถวนี้ และก็โดนถล่มด้วยแพไฟของพระมหาธรรมราชาที่ล่องมาจากในเมืองจนทัพเรือไหม้เสียหาย แพ้ไปโดยที่ทางพระมหาธรรมราชาไม่ต้องเสียทหารเลย

หาดูฉากนี้ได้ในหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 1


................................................................

จบการย้อนอดีตในภาคแรกเพียงเท่านี้ครับ คราวหน้าถ้ามีเวลาแบบนี้อีกจะไปเก็บรายละเอียดที่อื่นๆ มาให้ดูกันอีกนะครับ สำหรับใครที่ไม่ค่อยชอบประวัติศาสตร์ก็ลองชิมดูนะครับ สนุกมากมายเลยทีเดียว :)

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีคุณค่าทางใจ ให้คนไทยที่รักแผ่นดินเกิด ได้ไปย้อนดูสถานที่จริง ในประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สุโขทัยและราชวงศ์อยุธยา มีหลักฐานว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงมีอัครชายาเป็นเจ้าหญิงสุโขทัย การทรงผนวชของพระองค์ ก็ดูราวกับจะย้อนรอยปฏิบัติตามพญาลิไทที่เคยทรงผนวชระหว่างครองราชย์ (พระโพธิสัตว์ หรือแบบดาไลลามะ) พญาลิไทเป็นผู้ทรงวางรากฐานพระพุทธศาสนาแบบไทย โดยทรงเขียนคำภีร์พุทธ คือ ไตรภูมิ หรือที่รู้จักว่าไตรภูมิพระร่วง ตามชื่อเล่นของพระองค์ ทรงสร้างพระพุทธรูปสำคัญไว้ให้คนไทย ที่สำคัญคือ พระพุทธชินราช

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ฝากศึกษา ตำนานประวัติพระพุทธชินราช และพบพระพุทธรูปทองอีกสององค์ ที่สร้างพร้อมกัน จาก ผศ ดร สิทธิชัย สมานชาติ