05 เมษายน 2552
074 | ชุมนุมโดยสันติ ?
ภาพประกอบจาก ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด
ไม่รู้เรียกว่าจะเรียกถูกหรือเปล่านะครับ แต่ผมคิดว่า คำว่า "ชุมนุมโดยสันติ" เนี่ย น่าจะหมายถึง
- การชุมนุมโดยไม่สร้างความรุนแรง
- การชุมนุมโดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลหรือสถานที่
สาเหตุที่เอามาเขียนใน Blog เพราะว่าเมื่อตอนหัวค่ำดูข่าวการเมือง แล้วนักข่าวไปสัมภาษณ์คนทั่วๆ ไปเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง คำตอบที่คนให้สัมภาษณ์พูดก็คือ
" จะชุมนุมก็ขอให้ชุมนุมโดยสงบและสันติ ไม่ก่อความเดือนร้อน และอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตย "
ผมเคยเขียนไว้ใน GotoKnow เมื่อหลายเดือนก่อนช่วงกระแสพันธมิตรฯ ไว้แล้วครั้งหนึ่ง ความนี้ก็ยืนยันคำเดิมครับ ว่ามันไม่มีทางหรอก การชุมนุมโดยสงบและสันติและอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตยเนี่ย
ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล และเราต้องการให้รัฐบาลทำตามความต้องการเรานั้น เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง
วิธีที่ 1 : พูดกันเอง
ลองเสนอแนะความคิดเห็นแก่รัฐบาลตามช่องทางที่มี เช่น ร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐ, ออกสื่อ หรือแบบใกล้ๆ มือเลยก็สื่ออินเตอร์เน็ต เช่น เว็บบอร์ด
วิธีที่ 2 : ให้ผู้ใหญ่พูดให้
ดูท่าทางจะไม่ได้ผล ลองทำให้เอิกเกริกกว่านี้นิดนึง แนวนี้จะเป็นแนวของพวกนักวิชาการ, อาจารย์มหาวิทยาลัยครับ เช่น จัดเวทีเสวนา หรือให้สัมภาษณ์ออกทีวีเสนอแนะกันไป บุคคลระดับปัญญาชนเหล่านี้พูดออกมาแล้วน่าเชื่อถือครับ น่าจะเป็นวิธีที่ดูชัดเจนกว่าวิธีแรก
วิธีที่ 3 : งอแง
นักวิชาการเตือนแล้วยังไม่สนใจอีก จะทำยังไงดีละครับเนี่ย คงต้องให้มีกระแสขึ้นมาบ้างแล้ว ลองมาชุมนุมกันเลยดีกว่าครับ ตั้งเวที จัดอภิปราย สัมมนา ร้องเพลงด่า ฯลฯ อันนี้คงเห็นชัดขึ้น เพราะอย่างน้อยๆ ก็ต้องออกทีวี ลงหนังสือพิมพ์ และก็จะมีกระแสไปถึงบุคคลที่ใช้วิธีในข้อ 1 และข้อ 2 ด้านบนด้วย
มาถึงวิธีที่ 3 ถ้าเป็นเราเจอแบบนี้ก็ต้องรู้สึกตัวกันแล้วละ แล้วนี่เป็นถึงผู้บริหารประเทศ เขาก็ต้องรู้ครับว่ามีคนไม่ชอบเขาเยอะขึ้น เยอะขึ้นเรื่อยๆ แล้วเขาจะทำยังไงครับ
จะแก้ปัญหายังไงอันนี้ไม่รู้ แต่ถ้าไม่ยอมแก้ปัญหาให้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เราพยายามทำมานั้นไม่ได้ผล และรัฐบาลก็คงไม่สนใจการเรียกร้องหรือเสนอแนะของประชาชนอย่างเราด้วย
มันก็เลยเป็นแบบนี้แหละครับ การชุมนุมก็เลยต้องก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลหรือสถานที่ แล้วให้บุคคลหรือเจ้าของสถานที่ที่ได้รับผลกระทบนั้นมาสร้างความกดดันให้กับรัฐบาลอีกต่อหนึ่ง สิ่งนี้คือการ "กระตุ้นปฏิกิริยา" ครับ
ลองแบบนี้ก็ได้ครับ ถ้าให้เลือกไปชุมนุมเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาล สนามบิน กับไปชุมนุมเรียกร้องที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จะเลือกไปที่ไหนครับ ไปทำเนียบ คนสัญจรไปมาก็เดือดร้อน คนในรัฐบาลจะมาทำงานก็มาไม่ได้ ไปสนามบิน คนเดินทางเ้ข้า-ออกประเทศเดือดร้อน ชาวต่างชาติเดือดร้อน สายการบินเดือดร้อน รัฐบาลก็ต้องเดือดร้อนสิครับ
ไปทุ่งกุลาร้องไห้ ใครเดือดร้อนครับ รัฐบาลอาจจะชอบเสียด้วยซ้ำ เพราะคุณไปชุมนุมแล้วไม่ทำให้เดือดร้อนมาถึงเขา เขาก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจ
ผมไม่ได้มีอคติกับการเมือง หรือจะเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตลอดเวลา แต่ที่มาเขียน Blog วันนี้อาจจะเท้าความยาวยืดเกินไปหน่อย จริงๆ แล้วอยากจะบ่นแค่ประโยคที่เขาให้สัมภาษณ์ออกทีวีประโยคนั้นแหละครับ
" จะชุมนุมก็ขอให้ชุมนุมโดยสงบและสันติ ไม่ก่อความเดือนร้อน และอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตย "
มันกลายเป็นรูปประโยคมาตรฐานไปแล้วครับ ถ้าใครจะพูดถึงการเมืองในเวลานี้...
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น